อพวช. จับมือ สมาคมวิทย์ฯ สถาบันเกอเธ่ และทรู ร่วมค้นหานักสื่อสารวิทย์ฯ ในโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 18 

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำกัด จัดโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 18  (Young Thai Science Ambassador, YTSA#18) ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์ โอกาสที่เท่าเทียม -Equal Opportunities is Science” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะในการสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างเครือข่ายเยาวชนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาให้มีส่วนร่วมในการช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สู่สังคมและสร้างจิตสำนึกในการเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ พร้อมคัดเลือกเยาวชนลัดฟ้าไปร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี

นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมปลูกฝัง ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน และประชาชนในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้สนุกกับการค้นพบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ สำหรับโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 18 ครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ได้ตระหนักถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลกและชีวิตประจำวัน โดยปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ โอกาสที่เท่าเทียม – Equal Opportunities is Science” ภายใต้แนวคิด “การส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในวงการวิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านเพศ เชื้อชาติ หรือความบกพร่องทางร่างกาย” เพื่อแก้ปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทางความคิด ซึ่งได้คัดเลือกเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้นจำนวน 40 คน และเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี”

รศ.ดร.ปุณณมา ศิริพันธ์โนน อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ผลักดันกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งบ่มเพาะเยาวชนในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ เพราะวิทยาศาสตร์มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งต้องอาศัยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในสังคมได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย ซึ่งโครงการฯ นี้ หวังสร้างเครือข่ายเยาวชนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศ พร้อมสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อให้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยและโลกในอนาคต”

คุณภควดี วงค์คำแสน ผู้แทนสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย กล่าวว่า “สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยเป็นองค์กรระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเยอรมัน – ไทย พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงโครงการฯ นี้เราสนับสนุนและมุ่งหวังในการพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มต้นทุนทางวิทยาศาสตร์ในสังคมแห่งความรู้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจและความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านการสื่อสารวิทยาศาสตร์หลากหลายรูปแบบ และหวังว่าตัวแทนทูตเยาวชนไทยที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี จะได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เยอรมนีใช้ในการพัฒนาประเทศ และได้เห็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในระดับโลกอีกด้วย”

คุณปิลันธนี พาณิชพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารที่จะสามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการแบ่งปันองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว สำหรับกิจกรรมนี้ ถือเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาถ่ายทอดให้คนในสังคมได้เข้าใจง่ายมากขึ้น เพราะการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้คนตระหนักถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคม ซึ่งในฐานะของนักสื่อสารจำเป็นต้องมีแนวทางและรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสม เพื่อทำให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่ล้วนเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน”

ทั้งนี้ โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 18  (Young Thai Science Ambassador, YTSA#18) จะคัดเลือกนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม จำนวน 4 คน ให้เป็นผู้แทนทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ณ ประเทศเยอรมนี และคัดเลือกนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 6 คน พร้อมรับทุนการศึกษา คนละ 5,000 บาท อีกทั้งยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับ อพวช. ในภารกิจต่าง ๆ ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อีกด้วย โดยจะมีพิธีปิดโครงการฯ และประกาศผลรางวัลในวันที่ 22 มกราคม 2566 ต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.