คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

หากคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในคดีส่วนแพ่งก็จะถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ หากจะฎีกาส่วนแพ่งต้องขออนุญาตจากศาลฎีกา

*คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2562 การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 คดีนี้คดีส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” และมาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น…” เช่นนี้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 จำเลยจะฎีกาได้ต่อเมื่อยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงจะมีสิทธิฎีกาได้ การที่จำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย*

Leave a Reply

Your email address will not be published.