สทน.และ สช.วท. ลงนามความร่วมมือ เพื่อกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ และส่งเสริมศักยภาพบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สาขานิวเคลียร์ เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานสากล
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และพัฒนาส่งเสริมศักยภาพของผู้ขอรับใบอนุญาตและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมสาขา “นิวเคลียร์” ให้มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมาตรฐานสากล โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ลงนามร่วมกับ ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธีที่จัดขึ้น ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สทน.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในแขนงต่าง ๆ สทน.จึงยินดีที่จะสนับสนุนภารกิจของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ในส่วนของการพัฒนาหลักสูตรการอบรมและกำหนดหลักเกณฑ์การทดสอบความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับมาตรฐานเพื่อการขอรับใบอนุญาต สาขานิวเคลียร์ พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลวิชาการ บุคลากร เครื่องมือ ตลอดจนการอบรม การบริการวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับด้านนิวเคลียร์ และเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถยกระดับวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขานิวเคลียร์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถควบคุมมิให้ผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถเข้ามาประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมบุคคลเหล่านั้น อาจทำให้เกิดความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนและสังคมโดยรวมได้
สำหรับเรื่องของความร่วมมือ เป็นการร่วมมือแบบบูรณาการทางด้านวิชาการสามารถที่จะมองได้ใน 2 ประเด็นหลัก ๆ ประเด็นแรก คือเรื่องของการฝึกอบรม และการวางเกณฑ์กำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางด้านนิวเคลียร์เพื่อให้เกิดข้อกำหนดต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจะเป็นการเอาความถนัด ความรู้ ความสามารถ ทั้งสองหน่วยงานนี้มาเสริมกัน แล้วในเรื่องของการขยายการอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อยอดสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่รับใบอนุญาตแล้วยังมีองค์ความรู้ มีจริยธรรม มีข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรจะรู้เกี่ยวกับขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านนิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของหลักเกณฑ์ ในเรื่องของใบรับรองวิชาชีพ ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด ประเด็นที่สอง การเอาเรื่องของข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน จะเป็นสิ่งที่ทำให้การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานสูงที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดกับความปลอดภัยของการทำงานในกิจกรรมนั้น ๆ
ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 7,000 คน มีสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ ฯ ทั้งหมด 8 สาขา อนาคตก็คงจะเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ สภาวิชาชีพนั้นเป้าหมายหลักคือเน้นความปลอดภัยชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เป็นหนึ่งใน 8 สาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการควบคุม การลงนามความร่วมมือระหว่าง สทน. และสภาสมาคมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ ฯ ในวันนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะวิชาการต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าเรามีหน่วยงานเหล่านี้ เราทำความรู้เพื่อเสริมขีดความรู้ความสามารถ และส่งเสริมศักยภาพงานด้านนี้ให้พัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยกับชีวิตทรัพย์สินของประชาชน
ด้านรองศาสตราจารย์ พล.ต.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 30 ปี ต้องขอบคุณนายกสภาที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาพวกเรานักวิทยาศาสตร์ถึงจะเป็นนิวเคลียร์ เทคโนโลยีหรือรังสีอะไรก็ตาม มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่องของแหล่งพลังงานทั้งหลาย เราคงหนีไม่พ้นที่จะพิจารณาว่าประเทศไทย สมควรที่จะมีพลังงานที่มาจากนิวเคลียร์หรือไม่ นอกเหนือจากการใช้ฟอสซิลหรือแร่อื่น ๆ และประมาณปลายเดือนมีนาคมจะมีสัมมนาใหญ่ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จะเข้ามาจัดสัมมนาร่วมกับทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในฐานะที่เป็น regulator ทางสมาคมและหน่วยงานเครือข่ายอื่นทางด้านนิวเคลียร์และรังสี โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ซึ่งเราพัฒนาไปได้ไกลมากเหลือแต่ทางด้านพลังงาน ถ้าเป็นไปได้เราก็ควรผลักดันตั้งแต่ด้านบนจนถึงด้านล่าง ความหมายก็คือถึงระดับประชาชน เราก็ต้องทำงานอีกเยอะ
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ลงนามร่วมมือและหากเป็นผลดีต่อวิชาชีพ สาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมสาขา “นิวเคลียร์” สามารถขยายเวลาความร่วมมือออกไปทุก ๆ 3 ปี