ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Ful Moonl) เช้ามืดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 01.30 น. ระยะห่างจากโลก 405,818 กิโลเมตร ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย เมื่อนำภาพมาเปรียบเทียบกับขนาดปรากฏดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 จะเห็นความแตกต่างของขนาดปรากฏได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุด หรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวง แต่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ในระยะทางที่ไกลโลกมากที่สุดและเป็นดวงจันทร์เต็มดวงพอดี หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 7% และความสว่างลดลงประมาณ 15%

สำหรับปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” (Super Full Moon) ในปีนี้ จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 30 ถึง เช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นอกจากนี้ยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon) จึงเรียกว่า “ซูเปอร์บลูมูน” (Super Blue Moon) มีระยะห่างจากโลก 357,334 กิโลเมตร ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

ผู้สนใจข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เพิ่มเติม ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ www.facebook.com/NARITpage


Leave a Reply

Your email address will not be published.