นายกรัฐมนตรีประกาศเดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใน 7 ปี (พ.ศ. 2564-2570)
12 กรกฎาคม 2564 – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2564
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งนี้ มีการรายงานดัชนีเศรษฐกิจสีเขียว (Global Green Economy Index) ของประเทศไทยที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 45 ในปี 2557 มาอยู่ในอันดับที่ 27 ในปี 2561 และตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ที่มีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 55 ในปี 2560 มาอยู่ในอันดับที่ 43 ในปี 2563 แล้วก็ตาม ด้วย “วาระโลก” เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะ ปัญหาโรคระบาด การกระจายรายได้ รัฐบาลจึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการ ขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และ 13 มาตรการหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่
- พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญาด้วยการพัฒนาระบบ จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ในการใช้โมเดล BCG สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว
- เพิ่มพูนทรัพยากรชาติด้วยการผสานพลังของรัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานวิจัย โดยการส่งเสริมเอกชนในการปลูกและดูแลป่าทุกประเภทในพื้นที่ของรัฐด้วยกลไกและจัดสรรคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) รัฐ : เอกชน (ผู้ปลูกและดูแล) ในสัดส่วนโดยประมาณที่ 10 : 90 และเร่งการวิจัยพัฒนาพันธุ์ สร้างนวัตกรรม ระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา การติดตามให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
- พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG โดยเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานในแต่ละภูมิภาคเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการด้วยหลักการ BCG เชื่อมโยงการเกษตรทางเลือก/เกษตรสมัยใหม่ การแปรรูป การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับประเทศและเศรษฐกิจโลก
- ปรับระบบการเกษตร สู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และมูลค่าสูง เน้นเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากความหลากหลายของสินค้าเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ ไม้ผล ไม้ตัดดอก ไผ่ ไม้เศรษฐกิจ แมลง สมุนไพร สัตว์เศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงและสามารถใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมได้ รวมถึงการพัฒนาระบบเกษตรแบบองค์รวม เชื่อมโยง B C และ G ทั้งจังหวัด
- พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทาง และอาหารท้องถิ่นด้วยการยกระดับด้วยเครื่องจักรผลิตอาหาร (Food Machinery) และมาตรฐานการประกอบอาหารที่ดี
- สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากฐานชีวภาพให้มีขั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น อาทิ สารสกัด สารประกอบฟังก์ชัน อาหารฟังก์ชัน ชีวเคมีภัณฑ์ เช่น โอลิโอเคมิคอล วัสดุชีวภาพ อาทิเช่น วัสดุคาร์บอนมูลค่าสูง ยา และวัคซีน เป็นต้น
- สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลรัฐจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น การลดภาษีให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่จัดซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ส่งเสริมฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันกลไกราคาคาร์บอนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพ การจัดเก็บภาษีผู้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปลดล็อกการซื้อ-ขายพลังงานชุมชน
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียว สร้างโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข (Happy Model), ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral), สร้างคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของจังหวัดหลักและกลุ่มจังหวัดรอง รวมถึงพัฒนาระบบการใช้จ่ายแบบระบบการชำระเงินเดียว (One Payment System) สำหรับการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำคลังข้อมูลด้านการท่องเที่ยว
- ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสีเขียว และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายขนาดการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ เพื่อการวิเคราะห์ ทดสอบ การรับรองและขึ้นทะเบียนสินค้า BCG โดยเฉพาะสินค้าเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย สารสกัด ชีวเคมีภัณฑ์ ยา วัคซีน เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ
- ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) การประกอบการรูปแบบใหม่บนฐานเศรษฐกิจ BCG การบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งความรู้ด้านนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานในภาครัฐ และการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุนและผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ
- สร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ในทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มชุมชนและฐานราก กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) และผู้ประกอบการเทคโนโลยี
- เชื่อมโยงกับสากลในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ การดึงดูดบุคลากร การค้า การลงทุน การสร้างและพัฒนาเครือข่ายวิจัย การค้าและการลงทุนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก รวมถึงการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุนจากต่างประเทศด้วยการให้สิทธิประโยชน์ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เช่น สมาร์ทวีซ่า (Smart Visa)
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และใช้ 13 มาตรการเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจของหน่วยงานด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที อาทิเช่น การผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรด้วยรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด (ราชบุรี ลำปาง ขอนแก่น จันทบุรี และพัทลุง) ใน 5 ภาค โดยพิจารณาความเข้มแข็งของแต่ละพื้นที่โดยตอบโจทย์ อุปสงค์และอุปทานของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม