อนุภาคนาโนนำส่งสารกลุ่มกัญชา-กัญชง ติดปีกอุตสาหกรรมเวชสำอาง
นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนากระบวนการสังเคราะห์อนุภาคนาโน ช่วยนำส่ง CBD หรือสารสกัดจากพืชกลุ่มกัญชา-กัญชง ลดข้อจำกัด เพิ่มความสามารถในการละลายน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยา ขยายการนำไปต่อยอดใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมได้หลากหลาย เพิ่มโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ รับเทรนด์ตลาดกัญชา-กัญชงโลก และตลาดกัญชงไทยที่จะโตถึง 126% ในปี 2568
Cannabidiol (CBD) คือสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา (Cannabis sativa L.) ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งการนำไปใช้ทางการแพทย์และการวิจัยทางคลินิค เนื่องจากมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาทางการบำบัด รวมทั้งการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ ซึ่งสารสกัด CBD ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดและมีความเป็นพิษต่อระบบประสาทต่ำ
ดร.คทาวุธ นามดี จากทีมวิจัยเวชศาสตร์นาโน กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า แม้สารสกัดจากกัญชา-กัญชงจะมีฤทธิ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่การนำสารสกัด CBD ไปใช้ในทางการแพทย์นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น การละลาย ซึ่งพบว่า CBD มีชีวประสิทธิผลต่ำเนื่องจากความสามารถในการละลายน้ำได้น้อยและส่งผลให้การดูดซึมสารสกัดไม่สมบูรณ์ อีกทั้งปัจจัยด้านความคงสภาพของสารสกัด CBD เสื่อมสภาพได้จากอุณหภูมิ แสง ค่าความเป็นกรด-ด่าง และปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ และข้อจำกัดด้านการนำส่งสารสกัดผ่านผิวหนัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถส่งผ่านสารสกัดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการส่งสารผ่านผิวหนังนั้นยังไม่สูงเท่าที่ควร เนื่องจากสารสกัดประกอบด้วยโมเลกุลที่ละลายได้ดีในน้ำมัน ซึ่งจะสะสมอยู่ที่หนังกำพร้าชั้นนอก และไม่สามารถซึมผ่านลงไปได้ทั้งหมด
“จากข้อจำกัดดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา ซึ่งช่วยให้สารสกัดมีความสามารถในการกระจายตัวในน้ำ ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สำหรับสปา/เวลเนส ที่เดิมมักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมัน หรือครีมเนื้อหนัก” ดร.คทาวุธกล่าว พร้อมชี้ว่า อนุภาคนาโนฯ นี้ ยังลดความเป็นพิษจากสารสกัดโดยตรงและเพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป
ปัจจุบัน ดร.คทาวุธชี้ว่า คนไทยเริ่มคุ้นชินกับสารสกัด CBD หรือกัญชา กัญชง ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ตามที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1) ตั้งแต่ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน ตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และแม้ว่าจะมีการปลดล็อคให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ส่วนภาพรวมของโลกนั้น จากรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2567 แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีกร้อยละ 40 เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลก สนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้คาดว่า ในระยะข้างหน้า มูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและกระจายไปในหลายธุรกิจมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ความต้องการสารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใย สำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนเพาะปลูกกัญชงเพิ่มมากขึ้น มีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 22.4 ต่อปี
เช่นเดียวกับวิจัยกรุงศรี ที่ชี้ว่า มูลค่าอุตสาหกรรมกัญชง ของไทย ปี 2564 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่า ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท และคาดว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี
“อนุภาคนาโนนำส่งสารสกัด CBD ที่ทีมวิจัยนาโนเทคพัฒนาขึ้นนี้ มีจุดเด่นตอบความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในแง่ของความสามารถในการละลายน้ำที่ช่วยให้สามารถเติมเข้าไปในสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัมผัสได้หลากหลาย ไม่จำกัดเพียงแค่น้ำมัน, และยังช่วยลดการใช้ active dose เนื่องจากอนุภาคนาโนสามารถนำส่งสารสกัดได้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการซึมผ่านได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนการใช้สารสกัด CBD ได้อีกด้วย” นักวิจัยนาโนเทคชี้
ปัจจุบัน นวัตกรรมอนุภาคนาโนช่วยนำส่งสารสกัดจากพืชกลุ่มกัญชา-กัญชงนี้ วิจัยและพัฒนาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเสาะหาผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในกลุ่มของอิมัลเจล ครีม และโทนิค เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง และจะจัดแสดงภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้หัวข้อ สวทช.: ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand’s sustainable development) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี