คลินิกส่งเสริมสุขภาพ รพ.ตร. จัดอบรมความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรที่ประสบอุบัติเหตุสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีขณะปฏิบัติหน้าที่ 

การควบคุมอุบัติการณ์เข็มทิ่มตำ  เป็นหนึ่งในนโยบายของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล  เพื่อสนับสนุนการควบคุมความเสี่ยงของการให้บริการทางการแพทย์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล   ทั้งนี้การลดความเสี่ยงดังกล่าวมีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554    ผลบังคับใช้กับสถานพยาบาลทุกแห่งในการควบคุมกำกับให้มีการลดความเสี่ยงในการทำงาน โดยเฉพาะในส่วนของกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553

พันตำรวจโทหญิง วริทธิ์ธร  ดีช่วย

พันตำรวจโทหญิง วริทธิ์ธร  ดีช่วย หัวหน้าคลินิกส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ให้บริการดูแลตรวจรักษาผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล   จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการที่จะได้รับอุบัติเหตุที่เกิดจากเข็มทิ่มตำหรือของมีคมบาด หรือรับสัมผัสจากการให้บริการหัตถการต่างๆ ซึ่งทำให้มีโอกาสในการรับและติดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายจากการสัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งจากร่างกาย  โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและซี  การที่จะได้รับเชื้อเหล่านี้มักเกิดจากการโดนเข็มตำของมีคมบาดหรือสัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่มีเชื้อดังกล่าวในร่างกาย  เชื้อไวรัสสามารถผ่านเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือทางเยื่อบุต่างๆ เช่น กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก พบว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีจากอุบัติเหตุโดนเข็มตำหรือของมีคมบาดขณะปฏิบัติงานเท่ากับร้อยละ 0.3   ส่วนความเสี่ยงของการได้รับเชื้อเอชไอวีผ่านทางเยื่อบุ (Mucous membrane) ต่างๆ เท่ากับร้อยละ 0.09 ปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ในกรณีที่โดนเข็มตำหรือของมีคมบาดคืออุบัติเหตุที่โดนลึกมีเลือดของผู้ติดเชื้ออยู่ที่อุปกรณ์นั้นๆ หัตถการที่ทำกับเส้นเลือดแดงใหญ่หรือเส้นเลือดดำ และผู้ป่วยเป็นผู้ติดเชื้อในระยะท้าย     

ปัญหาเข็มทิ่มตำจากการทำงานของบุคลากรภายในโรงพยาบาล   เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากเร่งรีบในการทำหัตถการต่างๆ ซึ่งบางครั้งเป็นความรีบด่วนในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย อีกทั้งจากความประมาทและขาดความตระหนักต่อผลกระทบที่จะตามมาภายหลังของบุคลากรทางการแพทย์เอง ทางคลินิกส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลตำรวจ เก็บรวบรวมรายงานบุคลากรประสบอุบัติเหตุสัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งของผู้ป่วยประมาณ 60 – 100 รายต่อปี โดยเป็นบุคลากรทุกวิชาชีพตั้งแต่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ลูกจ้างและพนักงานในกลุ่มแพทย์ฝึกหัด นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลที่ฝึกปฏิบัติงานพบว่าเกิดอุบัติการณ์มากกว่าของบุคลากรกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด

พันตำรวจโทหญิง วริทธิ์ธร  ดีช่วย

พันตำรวจโทหญิง วริทธิ์ธร  ดีช่วย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีพ.ศ. 2565 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่มารับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจสะสมประมาณ 1,500 ราย  ทั้งนี้มารับบริการมากกว่า 5,000 Visit/ปี เกิดอุบัติการณ์กรณี PEP 63 ราย นอกจากนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร   เมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ ทำให้สัดส่วนการเข้ามารับบริการตรวจรักษาในโรงพยาบาลตำรวจก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย   ดังนั้นบุคลากรของโรงพยาบาลทุกระดับควรจะมีความรู้ด้านการป้องกันตนเอง   เมื่อมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคที่ติดต่อต่างๆ  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากผู้ป่วยด้วยวิธีการอันเป็นมาตรฐาน (Standard Precaution) แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดอุบัติเหตุสัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งของผู้ป่วย ต้องมีวิธีที่จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสได้ ( Post-Exposure Prophylaxis : PEP ) โดยให้รับประทานยาต้านไวรัสเร็วที่สุด  ปัจจุบันการใช้ยาต้านไวรัสต้องเลือกใช้ชนิดที่คาดว่าเชื้อไวรัสจะไม่ดื้อต่อยาหรือไม่ใช้ยาต้านไวรัสบนพื้นฐานชนิดเดียวกันกับที่ผู้ป่วยใช้ยามานาน เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลก ( World Health Organization : WHO) และหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในประเทศสหรัฐ อเมริกา (Centers for Disease Control : CDC) ปรับแนวทางการให้ยาต้านไวรัสแก่บุคลากรหลังสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ   ส่งผลให้กลุ่มผู้ให้บริการปรึกษาและแพทย์ที่ดูแลรับผิดชอบรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการให้คำแนะนำจำเป็นต้องรู้และเข้าใจแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้การป้องกันหลังสัมผัสเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งจัดสรรวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเพื่อฉีดกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีกรณีบุคลากรเจ้าหน้าที่ที่เกิดอุบัติการณ์ไม่มีภูมิคุ้มกันด้วย   

การอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเอดส์ และแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแก่บุคลากรเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อดูแลแบบองค์รวมในบุคลากรที่ได้รับอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม โดยมีบุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกระดับของโรงพยาบาลตำรวจ วิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 140 คน เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย พันตำรวจโทหญิง วริทธิ์ธร  ดีช่วย กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published.