ครม. เห็นชอบ “ร่างระเบียบฯ ร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน” พร้อมไฟเขียวตั้ง “สำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมฯ” เพื่อหนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

(เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566) : นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกมาเพื่อสนับสนุนการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยกับภาคเอกชนในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เป็นกลไกสำคัญให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริงและเกิดธุรกิจนวัตกรรมใหม่ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศ พร้อมเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) หรือ รวพ. และเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ….

  1. ร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. ….

สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ นี้ กำหนดให้นำระเบียบไปใช้บังคับแก่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายกำหนด โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถร่วมลงทุนได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การร่วมลงทุนกับเอกชนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน
2) การจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน และ 3) รูปแบบอื่น โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการอาจส่งเสริมการจัดตั้งและการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน ดังนี้ 1) ให้บุคลากรในหน่วยงานไปทำการวิจัยหรือนวัตกรรม บริหารหรือปฏิบัติงานในบริษัทร่วมทุน 2) ให้ผู้เรียนในหน่วยงานไปศึกษา ทำวิจัย หรือสร้างนวัตกรรม 3) ให้ใช้สถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ ของหน่วยงานโดยไม่มีค่าบริการหรือมีค่าบริการอัตราพิเศษ 4) จัดซื้อหรือ
จัดจ้างสินค้าหรือบริการจากบริษัทร่วมทุน ในกรณีที่สินค้าหรือบริการนั้นมีคุณภาพตามบัญชีนวัตกรรมไทย 5) ให้สิทธิบุคลากรที่ลาออกไปปฏิบัติงานในบริษัทร่วมทุนกลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานได้ และให้นับเวลาในระหว่างที่ไปปฏิบัติงานในบริษัทร่วมทุนสำหรับการคำนวณประโยชน์ตอบแทน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า การนำร่างระเบียบฯ นี้ไปใช้ จะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่เด่นชัดในแง่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยเกษตรกรและชุมชน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบในแง่บวก ทั้งในส่วนงบประมาณของรัฐที่ใช้ลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมจะไม่สูญเปล่า เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มรายได้และโอกาสจากการนำผลงานวิจัยไปเป็นฐานในการผลิตและบริการ เพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDE) สตาร์ทอัพ หรือกลุ่ม Smart SME อีกทั้งประเทศยังได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วย

  • การจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) หรือ รวพ.

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) หรือ รวพ. และเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยรวพ. ประกอบไปด้วย 1) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถการแข่งขัน 2) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ 3) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งทั้งสามหน่วยดังกล่าวเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน จัดตั้งขึ้นตามมติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีการดำเนินการในลักษณะ Sandbox ภายใต้ร่มนิติบุคคลของ สอวช. และ 4)  หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการนำวิทยาการ เทคโนโลยีและศิลปกรรมที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์  ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนที่เสนอเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ภายใต้ รวพ. มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้

โดยที่การดำเนินงานของ รวพ. จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งการเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการวิจัย รวมไปถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชนสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย พัฒนาให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง การพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัย ในการใช้กระบวนการการวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าให้กับประเทศ รองรับอุตสาหกรรมอนาคต และสร้างกลไกขับเคลื่อนชุดใหม่ (New Growth Engine) รองรับการเติบโตของประเทศในระยะยาว ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดทั้ง Value-chain ของ Sector สำคัญตามยุทธศาสตร์และความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม สร้างงาน รายได้ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และจะสร้างผลกระทบจากการบริหารและจัดการทุนผ่านโปรแกรม/แผนงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Funding) อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลให้เกิดประโยชน์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.