วช. ยกระดับเตรียมคนไทยสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ใช้สื่อดิจิทัลถ่ายทอดความรู้ หนุนเที่ยวเชิงสุขภาวะ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่นิ่งเฉยเตรียมความพร้อมเมื่อไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบผนึกกำลังร่วมกับผลงานวิจัยเรื่อง “การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้สื่อดิจิทัลในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ” หวังช่วยพัฒนาผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ในวัยที่มีเวลาพักผ่อน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพื่อเสริมอาวุธทางปัญญาให้ผู้สูงวัยสามารถค้นหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะได้ด้วยตนเอง อีกทั้งช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้มีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นตัวเลข 11.8 ล้านคน หรือ 17.9 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมา วช. ให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อต้องการจะเตรียมคนไทยก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข เนื่องจากเป็นวัยที่มีเวลาพักผ่อน พร้อมเดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งก็สอดคล้องกับผลวิจัยเรื่อง “การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้สื่อดิจิทัลในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ” ของ ดร.ชวาลศักดิ์ เพชรจันทร์ฉาย แห่ง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ดร.ชวาลศักดิ์ เพชรจันทร์ฉาย กล่าวถึงที่มาของการจัดทำงานวิจัยเรื่องนี้ มาจากองค์การสหประชาชาติที่มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2593 จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 2,092 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของประชากรโลก นอกจากนี้องค์กรการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) (2020) ได้ประมาณการว่า ภายในปี 2573 ทั่วโลก จะมีนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมากถึง 611 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเวลาท่องเที่ยว และมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าวัยอื่น ๆ
จากรายงานของ Global Wellness Institute (2018) ได้ประมาณการว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะ (Wellness tourism) ในปี 2017 ที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 639.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึงร้อยละ 6.5 ต่อปี ระหว่างปี 2015-2017 สูงเป็นสองเท่าของการท่องเที่ยวทั่วไป สำหรับประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะจำนวนมาก เช่น Chiva-Som International Health Resort อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกได้ว่าการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ไปด้วยในตัว ช่วยในการผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี แต่ในการท่องเที่ยวนั้นผู้สูงอายุจำเป็นต้องสืบค้นข้อมูลที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจ ผู้สูงอายุในปัจจุบันก็ได้มีการปรับตัว เพื่อใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต
จากเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ให้ได้รับความสะดวกในการใช้งาน และไม่ยากในการเรียนรู้มากเกินไป ทางคณะวิจัยจึงได้ทำการวิจัย 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “รูปแบบเนื้อหาดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ” และเรื่อง “แบบจำลองการให้คำแนะนำอัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะด้วยเทคนิคฟัซซีเบลคอลแลบอเรทิฟฟิลเทอริง” ซึ่งจะทำให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะเพียงพอที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ในเบื้องต้น โดยเรื่องที่ถ่ายทอดสู่ชุมชน คือ เรื่ององค์ความรู้ด้านการใช้สื่อดิจิทัลในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการใช้กระบวนการจัดการองค์ความรู้เป็นเครื่องมือช่วยในการถอดองค์ความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อในรูปแบบของการจัดทำคู่มือ การฝึกอบรมการใช้งานแอปพลิเคชัน การส่งมอบคู่มือ และการจัดทำแอปพลิเคชันสำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผลผลิตจากการดำเนินโครงการประกอบด้วย คู่มือการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันอย่างง่าย คู่มือการสืบค้นข้อมูลการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ และคู่มือการสร้างงานกราฟิกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในผู้สูงอายุ
สำหรับผลกระทบเชิงบวกจากงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดในครั้งนี้ คือ ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถใช้แอปพลิเคชันเพื่อสืบค้นข้อมูลการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และนำแอปพลิเคชันไปใช้งานจริงเพื่อเข้าใช้บริการในแหล่งบริการที่ส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีเว็บไซต์ให้บริการข้อมูลกับลูกค้า ก็จะก่อให้เกิดผลประกอบธุรกิจในระยะยาว กล่าวคือ ลูกค้าเห็นข้อมูลชัดเจน ถูกต้อง ทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจเข้าใช้บริการได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดผลดีต่อธุรกิจ