วว. บริการที่ปรึกษาการวิจัย โครงการขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสาน เพื่อใช้ในฐานปฏิบัติการพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว. ) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.) ปฏิบัติงานโครงการบริการที่ปรึกษาการวิจัย “โครงการขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสาน เพื่อใช้ในฐานปฏิบัติการพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้”  ระบุประสิทธิภาพมีความแข็งแรงสูง  ก่อสร้างได้ง่าย  อายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี  สามารถซ่อมแซม/เคลื่อนย้ายได้รวดเร็วด้วยกำลังพลในพื้นที่ 

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมชวลิต  ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ นำความเชี่ยวชาญด้านบล็อกประสาน ที่ วว. สั่งสมประสบการณ์และมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ให้บริการที่ปรึกษาการวิจัยแก่ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม  ภายใต้  “โครงการขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสาน เพื่อใช้ในฐานปฏิบัติการพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”  โดยผลการทดสอบกำแพงกันกระสุนบล็อกประสานพบว่า มีประสิทธิภาพและมีความแข็งแรงกว่าการใช้กระสอบทรายเป็นอย่างมาก อีกทั้งก่อสร้างได้ง่าย สามารถเคลื่อนย้ายได้รวดเร็วด้วยกำลังพลในพื้นที่   มีอายุการใช้งานมากกว่า 10  ปี จากผลการทดสอบสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการนำไปใช้งานจริงในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างให้การยอมรับและมีความต้องการนำไปใช้งานจริงในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

“โครงการขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสานฯ ที่ วว. ให้บริการที่ปรึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาการใช้งานบังเกอร์กระสอบทราย ที่มีอายุการใช้งานสั้น ไม่ทนแดดทนฝนและเปื่อยยุ่ยในระยะเวลา 3 -4  เดือน จากนั้นต้องเปลี่ยนใหม่  จึงมีแนวคิดจัดหาวัสดุที่คงทน  มีความแข็งแรงสูง  สามารถสร้างและเคลื่อนย้าย ซ่อมแซม ได้รวดเร็ว กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมจึงร่วมมือกับ วว. เพื่อวิจัยแนวทางการพัฒนาการใช้งานบล็อกประสาน ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญ สำหรับจัดสร้างกำแพงกันกระสุนเพื่อใช้ในภารกิจทางทหารต่อไป” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.ประทีป   วงศ์บัณฑิต   รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว.  กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ วว. โดย นายวุฒินัย  กกกำแหง  นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. และทีมนักวิจัย  ได้ร่วมส่งมอบแบบก่อสร้างกำแพงกันกระสุน และตัวอย่างกำแพงกันกระสุนบล็อกประสาน เพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติการทางยุทธวิธี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก พ.อ.อภิชาต วงศ์วัฒนา  ผอ.กองตรวจและทดสอบมาตรฐานทางทหาร  สำนักมาตรฐานทางทหาร  กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม  เป็นผู้รับมอบ  นอกจากนี้  วว. ยังได้จัดอบรม “การถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตบล็อกประสานและการก่อสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสาน วว.”  ให้แก่เจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ใช้งาน  พร้อมจัดสร้างกำแพงตัวอย่างเพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติการทางยุทธวิธีและเพื่อการเรียนรู้  ณ ศูนย์ฝึกทางยุทธวิธี  ค่ายมหาจักรีสิรินธร อ.นาทวี จ.สงขลา  โดยในโครงการนี้นักวิจัย วว. ได้ออกแบบส่วนผสมในการผลิตบล็อกประสานเพื่อให้ได้บล็อกประสานที่มีความแข็งแรงสูงเหมาะสมต่อการจัดสร้างกำแพงกันกระสุน   และได้ออกแบบกำแพงกันกระสุนรูปแบบต่างๆ พร้อมจัดทำแบบก่อสร้างและจัดทำขั้นตอนการก่อสร้างกำแพงกันกระสุน เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงด้วยกำลังพลในพื้นที่ จากผลการทดสอบร่วมกับผู้ใช้งานได้รับการยืนยันว่ากำแพงกันกระสุนบล็อกประสาน มีความมั่นคงแข็งแรง และมีความปลอดภัยสูงกว่าการใช้กระสอบทราย

          ทั้งนี้  วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา บล็อกประสาน  (Interlocking  Block)  โดยดำเนินการวิจัยพื้นฐานด้านวัสดุมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ปัจจุบันมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาประยุกต์การใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม  เนื่องจากบล็อกประสานมีจุดเด่นคือ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรไม้และสิ่งแวดล้อม  ในการผลิตบล็อกประสานจะใช้ดินลูกรังหรือมวลรวมอื่นๆ เช่น ทราย  กรวด  หินฝุ่น เป็นวัตถุดิบหลัก โดยใช้ปูนซีเมนต์เป็นตัวประสาน  อัดขึ้นรูปด้วยเครื่องอัดกำลังสูง  บ่มด้วยความชื้นไม่น้อยกว่า 7 วัน จะได้บล็อกประสานที่แข็งแรงสามารถนำไปก่อสร้างอาคารในระบบผนังรับน้ำหนักได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นทั้งผนังและโครงสร้างในเวลาเดียวกัน ดังนั้นการก่อสร้างด้วยระบบบล็อกประสาน  จึงสามารถลดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กได้   นอกจากนั้นบล็อกประสานยังสามารถนำมาดัดแปลงเสริมเหล็ก เพื่อใช้งานเป็นเสา  คาน  บันได  ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของอาคาร

          จุดแข็งของเทคโนโลยีบล็อกประสาน วว.  1) เน้นใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ได้แก่ ดินลูกรัง  ทรายก่อสร้าง  หินฝุ่น  กรวด  เม็ดลูกรัง ที่มีอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ  2) เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต  สามารถออกแบบและสร้างขึ้นใช้เองโดยโรงงานและช่างฝีมือในประเทศ  ในกระบวนการผลิตไม่ต้องการเชื้อเพลิง  ไม่ว่าจะเป็น ฟืน  แกลบ  หรือน้ำมัน เพราะบล็อกประสานไม่ต้องผ่านกระบวนการเผา  3) การใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตค่อนข้างต่ำหรืออาจไม่จำเป็นต้องใช้  4)  ผลิตและก่อสร้างได้ง่าย ไม่ต้องการช่างฝีมือที่ชำนาญการเฉพาะด้าน   5) อาคารที่สร้างด้วยบล็อกประสาน  สามารถลดการใช้ไม้แบบไม้ค้ำยัน เหล็กเสริม  และคอนกรีต   6)  ลดค่าก่อสร้างลงไปได้ตั้งแต่ร้อยละ  10 – 20  เมื่อเทียบกับอาคารขนาดและคุณภาพเดียวกันที่ก่อสร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผนังก่ออิฐฉาบปูน  7) ลดระยะเวลาในการก่อสร้างลงได้ร้อยละ 30 –  35  เมื่อเทียบกับอาคารขนาดเดียวกันที่ก่อสร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผนังก่ออิฐฉาบปูน  และ 8) อาคารบล็อกประสานมีความงามเป็นเอกลักษณ์  สวยงามจากวัสดุธรรมชาติ  ไม่จำเป็นต้องฉาบปูนและทาสี

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการเกี่ยวกับบล็อกประสาน วว.  ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว.  โทร.  0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009  อีเมล tistr@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.