วช. ร่วมกับ GISTDA จับมือ จ.อุทัยธานี เปิดทดลองใช้แอป “เช็คแล้ง” ประเมินความเสี่ยงภัยแล้ง หวังลดความเสียหายพืชเกษตรรายแปลง
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA ร่วมกับ จังหวัดอุทัยธานี จัดการประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจำลอง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จาก วช. โดยมี นายพีระพล ตัณฑโอภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดการประชุม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และ ภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อการนำเสนอแพลตฟอร์มการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจำลองด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี
นายพีระพล ตัณฑโอภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ในนามจังหวัดอุทัยธานีขอต้อนรับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะที่ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่ GISTDA รวมทั้งขอต้อนรับผู้ทรงคุณวุฒิ วช. หัวหน้าศูนย์ราชการ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มาร่วมประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลง” เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสำรวจพื้นที่ ซึ่งต่างกับการสำรวจในสมัยก่อน อาจจะมีปัญหาในการสำรวจความเสี่ยง และเทคโนโลยีแบบสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการสำรวจ ทำให้สามารถพิสูจน์ได้อย่างถูกต้องและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
“ในนามตัวแทนจังหวัดอุทัยธานีขอขอบคุณอีกครั้ง ในส่วนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม และขอขอบคุณรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง มี 3 เรื่องที่ต้องช่วยกันเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์มากที่สุด คือ 1.ความเที่ยงตรง 2.ความรวดเร็ว และ 3.ไม่เกิดปัญหาตามมา” รองผู้ว่าฯ อุทัยธานี กล่าวทิ้งท้าย
ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง อาศัยข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีการรายงานของฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืช ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งในระดับจังหวัด และให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อขอรับเงินค่าชดเชย โดยจะต้องมีการตรวจสอบยืนยันความเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนถึงจะสามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยได้ ทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรเกิดความล่าช้าและสินเปลืองกำลังคนในการสำรวจตรวจสอบจำนวนมาก วช. จึงได้ให้การสนับสนุน GISTDA ในการดำเนินโครงการ “ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” โดยคณะนักวิจัยได้สร้างแบบจำลองการวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง แบบอัตโนมัติ และจัดทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง รวมทั้ง การขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคมให้กับหน่วยงานระดับนโยบาย อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น โดยคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการของโครงการวิจัยได้ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเพื่อดูผลการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้รู้ถึงปัญหาของการใช้งานของแพลตฟอร์ม เมื่อนำมาใช้งานจริง
นางสาววรนุช จันทร์สุรีย์ นักวิจัย GISTDA เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลดาวเทียมที่มีศักยภาพและเกี่ยวข้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืช โดยพิจารณาถึงดาวเทียมทั้งในระบบ Passive และระบบ Active ความละเอียดปานกลาง (Moderate Resolution Satellites) และดาวเทียมความละเอียดสูง (High Resolution Satellites) โดยได้เลือกใช้ข้อมูลดาวเทียมจำนวน 4 ดวง ได้แก่ ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ Passive ดาวเทียม Soil Moisture Active Passive (SMAP) ดาวเทียม Global Precipitation Measurement (GPM) และดาวเทียม Sentinel-2 นอกจากนี้ข้อมูลดาวเทียม ยังมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลการใช้น้ำของพืช ข้อมูลปริมาณน้ำฝน เป็นข้อมูลที่ได้จากสถานีตรวจวัดจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2. การสร้างแบบจำลองการประเมินความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง 3. การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ 4. การขับเคลื่อนติดตาม ประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคม
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” วช. และ GISTDA ร่วมกับ จังหวัดอุทัยธานี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 มีนาคม 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี อำเภอเมือง และที่ว่าการอำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ภายในการอบรมดังกล่าวมีวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดแก่เกษตรกรและประชาชน ได้แก่ การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, การใช้งาน Web Application แพลตฟอร์ม “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” โดย GISTDA, แนวทางและมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย โดย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, การใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดย กรมส่งเสริมการเกษตร, การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตร โดย กรมชลประทาน, การพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร โดย กรมอุตุนิยมวิทยา และแนวทางมาตรการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะช่วยขยายการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ รวมถึงบูรณาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ และด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงการใช้งานเพื่อประโยชน์ในภาคการเกษตรได้แบบยั่งยืนและใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่อยู่ภายใต้การประเมินความเสียหายด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อความถูกต้อง แม่นยํา และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” ได้ทั้งระบบ Android และ ios เพื่อประเมินติดตามภัยแล้งของพืชเกษตร ผ่านข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูง หรืออีกแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์ https://cropsdrought.gistda.or.th