GISTDA จับมือพันธมิตร นำร่องใช้งานแอปพลิเคชั่น “เช็คแล้ง” ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม
15-16 มีนาคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาสและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดย ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้ตรวจสอบทางวิชาการ และทีมงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปิดท้ายสำหรับการดำเนินงานโครงการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม
นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการภารกิจด้านภูมิสารสนเทศของ GISTDA เปิดเผยว่า จังหวัดอุทัยธานี เป็น 1 ในพื้นที่นำร่องการอบรมการใช้งานแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” การลงพื้นที่ครั้งนี้ “เช็คแล้ง” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานระดับจังหวัด ผ่านคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดอุทัยธานี (กชภจ.) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอสว่างอารมณ์ (กชภอ.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) โดยได้ร่วมทดสอบและใช้งาน “เช็คแล้ง” ในพื้นที่จริง เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้วยข้อมูลจากดาวเทียม พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มฯ สำหรับการใช้งานต่อไป
แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” เป็นแอปฯ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย GISTDA ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อใช้ในการติดตามความเสี่ยงและความเสียหายของแปลงเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง มาวิเคราะห์ร่วมและแสดงผล เพื่อให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง โดยการระบุพิกัดพร้อมขอบเขตแปลงเกษตรของตนเอง แอปฯ “เช็คแล้ง” จะทำให้เกษตรกรรู้ว่าในพื้นที่แปลงเกษตรของตนเองมีความเสี่ยงมากหรือน้อยขนาดไหนกับภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ แอปฯ “เช็คแล้ง” ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจให้กับเกษตรกรสำหรับการวางแผนการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้
สำหรับที่จังหวัดอุทัยธานีในครั้งนี้ เป็นการนำร่องใช้งาน “เช็คแล้ง” เป็นพื้นที่สุดท้าย หลังจากนี้ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับมือ และปรับแผนการเพาะปลูกได้อย่างทันท่วงที นางกานดาศรีฯ กล่าว
หมายเหตุ: พื้นนำร่องการอบรมใช้งาน “เช็คแล้ง” จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ #สกลนคร #ร้อยเอ็ด #สุรินทร์ #นครราชสีมา #กำแพงเพชร และ #อุทัยธานี