วว. ร่วมถวายผลงานวิจัย ชุดสีกระเบื้องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลง ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประทานพระวโรกาสให้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมด้วย ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ คณะทีมวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปกรและบริษัทเบเยอร์ เฝ้ากราบสักการะและถวาย “ชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” ผลงานศิลปะประยุกต์ และต้นแบบผลิตภัณฑ์จากชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ สําหรับการใช้งานด้านการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ เคหะสถานและสิ่งทอ โดยเป็นผลงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุน เพื่อสืบทอดคุณค่าความเป็นไทย สร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่ง วว. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมโครงการวิจัยชุดสีดังกล่าว ผ่านการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
อนึ่ง โครงการสีของกระเบื้องเคลือบวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำชุดโครงสี นำไปต่อยอดการจัดทำฐานข้อมูลสี และใช้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ ซ่อมแซมกระเบื้องเคลือบภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมให้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งเพื่อศึกษา ถึงสีและลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกที่มีการใช้เป็นวัดแรกในประเทศไทย สู่การต่อยอดการจัดทำฐานข้อมูลสี และจัดทำชุดโครงสี โดยลวดลายกระเบื้องเป็นฝีมือการออกแบบของพระอาจารย์แดง แห่งวัดหงส์รัตนาราม ช่างเขียนที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ 3 และได้ซ่อมแซมกระเบื้องเคลือบประดับที่ชำรุดขึ้นใหม่ โดยสั่งทำที่ประเทศจีนในปี พ.ศ. 2459 นับเป็นการผสมผสานรากทางวัฒนธรรมไทยและจีนได้อย่างลงตัว
ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ศึกษา ค้นคว้าและผลิต เป็นเล่มชุดแพนโทนสีต้นแบบสำหรับการใช้งาน 3 ประเภท อันได้แก่ แพนโทนสำหรับสีย้อมและพิมพ์ผ้า, แพนโทนสำหรับ สีทาเคหะสถาน, แพนโทนสำหรับสีเพนท์กระเบื้อง รวมถึงการจัดทำคู่มือการใช้คู่สีที่สอดคล้องกับการใช้งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย