วว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ SME ด้านเกษตร/อาหารปลอดภัย วิจัยพัฒนา/ทดสอบ ข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า ช่วยต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ขับเคลื่อนนโยบาย  BCG  พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย  ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ณ  พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก  บูรณาการวิจัยประสบผลสำเร็จพัฒนาและทดสอบ  “ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า”  ที่มีคุณสมบัติเด่นช่วยต้านอนุมูลอิสระ  สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  พร้อมต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ  สร้างงาน  สร้างเงินให้เกษตรกร  สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจประเทศ

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต    ผู้ว่าการ วว.   กล่าวว่า   วว. โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา กลุ่มงานบริการอุตสาหกรรม  ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดพิษณุโลก นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  (วทน.)  มาพัฒนารวมกับเกษตรกร  เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดฐานความเข้มแข็งเดิม  นั่นก็คือ ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า ซึ่ง วว. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ทดสอบปริมาณสารสำคัญถั่งเช่า Cordycepin และ Adenosine ที่เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดและช่วยเรื่องภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  ป้องกันภัยคุกคามจากเชื้อโรคในปัจจุบัน  โดยการทดสอบสารสำคัญนี้นำไปสู่การพัฒนาเชิงนวัตกรรมในการผลิตข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า รวมถึงการทดสอบปริมาณสารสำคัญอื่นๆ เช่น  สารแกมมา โอริซานอล  (Gamma  Oryzanol) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ  ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน  (Endorphin) ช่วยผ่อนคลายความเครียดและหลับสบาย ร่วมถึงช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย.  สนับสนุนการกล่าวอ้างทางสุขภาพ  (Health claim)  บนฉลาก  เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการขายด้วยการหาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์  ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ 

โดยขณะนี้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า  ในรูปผลิตภัณฑ์   “ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า” ในแปลงนาปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากเศษเหลือใช้จากการเพาะเห็ดถั่งเช่าของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ  คือ  นายบัณฑิต   ศิริสัมพันธ์ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่  ตำบลหนองพระ   อำเภอวังทอง    จังหวัดพิษณุโลก  นอกจากนั้นยังส่งเสริมการต่อยอดโดยการแปรรูปการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด   ที่สำคัญคือการมุ่งไปที่  ZERO  WASTE  โดยมีการนำต้นข้าวอ่อนที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวข้าวมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูป  “ชาใบข้าว”  เพื่อสร้างทางเลือกแก่ผู้บริโภค สร้างงาน สร้างเงินให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

“ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า ซึ่ง วว. เข้าไปช่วยพัฒนาดังกล่าว ขณะนี้ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรในรูปการปลูกข้าวให้มีสารสำคัญของถั่งเช่า และผลิตภัณฑ์ข้าวที่ปลูกได้วางจำหน่ายในท้องตลาดแล้วภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ คอร์ดี้พาวเวอร์ไรซ์ (Cordy  Power Rice)  เป็นหนึ่งในผลงานพัฒนานวัตกรรมอาหารปลอดภัยที่ วว. ภาคภูมิใจและร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG  สามารถนำองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยตอบโจทย์ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.พัชทรา   มณีสินธุ์  รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว.  กล่าวเพิ่มเติมว่า   วว. พัฒนาข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่าร่วมกับเกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกข้าว  โดยใช้เศษเหลือจากการเพาะเห็ดถั่งเช่าในรูปปุ๋ยที่มีการควบคุมโดยเกษตรกรและทดสอบปริมาณสารโดย วว. ทำให้ผลผลิตมีปริมาณถั่งเช่าในอัตราที่เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อร่างกาย จากการทดสอบปริมาณสารอาหารพบว่า  ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า  มีสารแกมมา โอริซานอล  (Gamma  Oryzanol)  ในปริมาณสูง  โดยมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ  ที่มีคุณสมบัติเด่น  ได้แก่ ช่วยป้องกันการเกิดการเปลี่ยนแปลงแป็นเซลล์ผิดปกติหรือเซลล์มะเร็ง   ป้องกันเซลล์ผิวจากการถูกทำลายด้วยแสงแดด   ลดระดับไขมันในเลือด ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอุดตัน   เพิ่มการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินช่วยผ่อนหลายความเครียดและหลับสบาย  กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต  ลดการสูญเสียแคลเซี่ยมทำให้ลดอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุน   และลดอัตราการเกิดภาวะวัยทอง (Menopause) นอกเหนือจากสารสำคัญในถั่งเช่าแล้ว  พบว่ามีสารคอร์ไดเซปิน  (Cordycepin)  ที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด บำรุงและฟื้นฟูระบบการทำงานของไตและปอด ช่วยบรรเทาอาการไตอักเสบและนิ่วในไต นอกจากนั้นยังมีสารอะดีโนซีน (Adenosine) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งความผิดปกติของวงจรในหัวใจ ที่เป็นเหตุให้หัวใจเต้นผิดปกติ

“นอกจากการวิจัยพัฒนากระบวนการปลูกข้าวให้มีความสม่ำเสมอและพัฒนาให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพแล้ว วว. ยังพัฒนาต่อยอดในด้านบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารด้วย  เพื่อช่วยรักษาคุณภาพและลดความสูญเสียสินค้า  ตลอดจนให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน   เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าอีกด้วย” รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าว

  นายบัณฑิต   ศิริสัมพันธ์   เกษตรกรร่วมโครงการฯ  จากตำบลหนองพระ   อำเภอวังทอง    จังหวัดพิษณุโลก  กล่าวว่า เดิมทำการเกษตรปลูกข้าวทั้งบริโภคและจำหน่าย  โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงและกลุ่มเครือญาติมาเป็นระยะเวลานานแล้วพบว่า มีการแข่งขันสูง  จึงต้องการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพที่โดดเด่นและมีความแตกต่าง  ซึ่งได้พิจารณาจากแนวโน้มผู้บริโภคที่มุ่งเน้นด้านการดูแลฟื้นฟูสุขภาพมากขึ้น  อีกทั้งทางเลือกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพในปัจจุบันก็เปิดกว้างทั้งช่องทางและวิธีการ จึงได้มาปรึกษา วว. และได้รับความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จสามารถผลิตข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่าออกจำหน่ายได้ในปัจจุบัน  นอกจากนั้นยังสามารถนำใบข้าวมาผลิตเป็นชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีปริมาณสารอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนั้นซังข้าวยังนำไปเป็นปุ๋ยสำหรับใช้หมุนเวียนในระบบการเกษตรของกลุ่มด้วย  และในอนาคตจะมีการพัฒนาสารสำคัญในถั่งเช่ากับพืชชนิดอื่นๆ ต่อไปสอบถามรายละเอียดและรับบริการจาก วว. ติ ดต่อได้ที่  โทร. 0  2577  9000, 0  2323  1672-80  (ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา)  โทรสาร. 0 2577 9362  อีเมล tistr@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.