วช. หนุน สทน. และ ม. นเรศวร ส่งออกผลไม้สด ด้วยการฉายรังสีก่อนส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร โครงการ “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” โดยมี ดร. หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ จาก สทน. เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้ดำเนินการวัดการกระจายปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ (กล่องที่บรรจุส้มโออยู่ภายใน) โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกามาร่วมดำเนินการรับรองผล ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ณศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เทคโนธานี ต. คลองห้า อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี
รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร. สุวิมล เจตะวัฒนะ นักวิจัยจาก สทน. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ และในปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทำ dose mapping ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นการวัดการกระจายของรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ ตามข้อกำหนดของทางสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา ผลการทำ dose mapping ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ทันที และคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo East 2023 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วยการทำ dose mapping ที่ได้รับการรับรองเสร็จเรียบร้อยในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกส้มโอผลสดของไทยได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท โทรศัพท์ 063 639 2697 Email: peerasakc@gmail.com