วช. ส่งเสริม ม.เกษตร โชว์โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย ทางเลือกใหม่ช่วยคนไทยหายจากโรค
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โชว์ผลงานวิจัยของคนไทย โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย มิติใหม่แห่งวงการแพทย์เพื่อใช้รักษาโรคหลายชนิด ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ลดไข้ รักษาอาการบวม ของ ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วยไม้ พร้อมต่อยอดสู่การผลิตสารมูลค่าสูงจากกล้วยไม้สกุลหวาย เพื่อขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเชิงหน้าที่ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม วช. มีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย ของ ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ แห่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะเป็นโครงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วยการนำประโยชน์ที่ได้จากกล้วยไม้มาพัฒนากลายเป็นสมุนไพร เพื่อใช้ในวงการทางการแพทย์ที่มีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด นับว่าเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยส่งเสริมภาคบริการประชาชนให้สามารถมียาและสมุนไพรดี ๆ ในการดูแลตนเอง
ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ แห่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย เป็นโครงการวิจัยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับคณาจารย์หลาย ๆ ท่าน ได้แก่ ดร.ประภัสสร รักถาวร, ดร.ธนภูมิ มณีบุญ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ จากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ ดร.จิตราพรรณ เทียมปโยธร จากภาควิชาพืชสวนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันพบว่า กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก การใช้กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นสมุนไพรทางการแพทย์มีมานานกว่า 3,000 ปี ในประเทศจีนและญี่ปุ่น ที่นิยมบริโภคเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพื่อสุขภาพที่ดี มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดไข้ และแก้ปวด รักษาอาการบวม รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รักษาโรคเบาหวาน บรรเทาอาการปวดข้อจากโรครูมาตอยด์ ตลอดจนอาการปวดประจำเดือน เป็นต้น
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กล้วยไม้สกุลหวาย มีสารที่เป็นประโยชน์และมีศักยภาพสูงทั้งในเชิงสุขภาพและเชิงพาณิชย์ ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากส่วนต่าง ๆ ของกล้วยไม้จึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกล้วยไม้ นอกเหนือจากการปลูกเพื่อขายต้นและตัดดอก ประกอบกับเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของกล้วยไม้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดอีกด้วย ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงได้มีการพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย โดยศึกษาสภาวะการสกัดที่เหมาะสมในการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอื้องคำ เอื้องดอกมะเขือ และเอื้องดอกมะลิ ลักษณะผงสารสกัดกล้วยไม้สกุลหวายหลังจากผ่านกระบวนการสกัดและการทำแห้งแบบเยือกแข็ง พบว่ามีองค์ประกอบของสาร dendro phenol สาร dendrobine และกลุ่มสารฟีนอลิก มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-Glucosidase และ α-Amylase มีฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH, ABTS, Nitric oxide และ Superoxide ได้ดี
นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ (Hep G-2 Cells), เซลล์มะเร็งปากมดลูก (Hela Cells), เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก (Du-145 Cells), เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7 Cells) และพบว่าไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ (Liver cell) อย่างไรก็ดี เมื่อนำสารสกัดจากกล้วยไม้สกุลหวายที่ได้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูล และชาเพื่อสุขภาพด้านการลดน้ำตาลในเลือดจากกล้วยไม้สกุลหวาย พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการพัฒนามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-Glucosidase และต้านอนุมูลอิสระ DPPH, Nitric oxide และ Superoxide ได้ดี นับว่าเป็นผลกระทบเชิงบวกที่ได้จากงานวิจัย ที่สามารถนำโครงการดังกล่าวไปต่อยอดสู่การผลิตสารมูลค่าสูงจากกล้วยไม้สกุลหวายต่อไป