สวรส. ชงวิจัย “เตรียมระบบบริการสุขภาพ” รองรับวิกฤตระบาดโควิด-19 พร้อมยกระดับมาตรฐาน รพ.ระยะยาว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องรับมือตั้งแต่ปลายปี 2562 และยังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของผู้คน ซึ่งท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว ต้องการการตอบสนองของระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกลไกหลักต่อการรับมือและตอบสนองต่อการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในภาวะฉุกเฉิน  และการรองรับในระยะต่อไป ตลอดจนการเรียนรู้จากสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกันได้ในอนาคต 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ได้จัดให้มีการศึกษาวิจัย “การตอบสนองและเตรียมการของระบบบริการสุขภาพไทยต่อวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 : การดำเนินการของโรงพยาบาล และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมภายในขอบเขตของระบบสุขภาพ” โดยเน้นศึกษาประเด็นสำคัญในส่วนของภาพรวมการตอบสนองและการเตรียมการของระบบบริการสุขภาพต่อสถานการณ์โควิด-19 ของระบบโรงพยาบาล และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมภายในขอบเขตของระบบสุขภาพ, หอผู้ป่วยเฉพาะกิจและนวัตกรรมการจัดบริการของโรงพยาบาล, การปรับตัวและนววิถีของการจัดบริการสุขภาพที่สำคัญของโรงพยาบาลเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19, การประมาณการต้นทุน และต้นทุนค่าเสียโอกาสในการดำเนินการของโรงพยาบาล, การดำเนินการของระบบหลักประกันสุขภาพ และศึกษากลไกการจัดการของรัฐเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย  

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยเครือข่าย สวรส. กล่าวถึงผลวิจัยในประเด็นสำคัญว่า การจัดบริการของโรงพยาบาลเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถดำเนินการได้ในระบบบริการปกติของโรงพยาบาล เนื่องจากความต้องการใช้เตียงผู้ป่วยในที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าขีดความสามารถปกติจะรองรับได้ มีความจำเป็นที่ต้องจัดบริการในรูปแบบที่มีการแยกตัว (Isolation) เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค และลักษณะการดำเนินการที่เป็นการตอบสนองในลักษณะชั่วคราวในช่วงสถานการณ์การระบาด  ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบกับโรงพยาบาลในหลายด้าน  โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีความท้าทายในการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในด้านการดูแลรักษาพยาบาล การปรับเปลี่ยนบริการการดูแลผู้ป่วย การจัดการสถานที่ การจัดการบุคลากร การจัดการยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงด้านอื่นๆ เช่น การสื่อสาร  นอกจากนี้ยังครอบคลุมทั้งบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง และผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ควรทบทวนและเตรียมการสำหรับการจัดการระบบเตียงและการเข้าถึงเตียงผู้ป่วยในเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รวมถึงการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงที่มีผลกระทบในวงกว้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบ  มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการที่มีเอกภาพ และระบบงานที่มีบูรณาการ โดยการพัฒนาระบบงานในการบริหารเตียงผู้ป่วยใน พื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น 1) ระบบการลงทะเบียนเตียงเพื่อการดูแลผู้ป่วยโควิด จำเป็นต้องรับทราบจำนวนและที่ตั้งของเตียงแต่ละประเภท หมายเลขประจำเตียง เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวได้  2) ระบบการลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อใช้เตียง ควรเป็นช่องทางเดียว (single gateway) โดยมี one stop call center  3) ระบบข้อมูลการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างการรักษา จำเป็นต้องเป็นปัจจุบันตลอดเวลา เพื่อสนับสนุนการส่งต่อผู้ป่วย และเชื่อมโยงข้อมูลระบบเบิกจ่าย ลดความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายและความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบ 4) ระบบข้อมูลการแจ้งการจำหน่ายผู้ป่วยและดูแลต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาระบบติดตามสุขภาพของผู้ป่วยต่อเนื่องโดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลใหม่ 5) ระบบเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายบริการกรณีผู้ป่วยโควิด จำเป็นต้องมีการลงทะเบียนที่เป็นปัจจุบันโดยใช้ระบบ ID เดียว-เตียงเดียว ทำให้เตรียมการประเมินงบประมาณได้ง่ายและสะดวกสำหรับการตรวจสอบได้ในภายหลัง

นอกจากนั้น ผลจากงานวิจัยยังได้นำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลและการบริการสุขภาพ ซึ่งสามารถดำเนินการเพื่อรองรับการบริการในลักษณะต่างๆ ดังนี้ 1) หอผู้ป่วยวิกฤติสำหรับผู้ป่วยโควิดในระยะวิกฤติ 2) หอผู้ป่วยในแยกโรคสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 3) หอผู้ป่วยเฉพาะกิจเพื่อการพักพิงชั่วคราว 4) หอผู้ป่วยเฉพาะกิจสำหรับผู้ป่วยระหว่างสอบสวนโรค 5) โรงพยาบาลและหอผู้ป่วยภาคสนาม และคลินิกผู้ป่วยนอกเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการเปิดที่พักชั่วคราวเพื่อการกักกันหรือกักตัวของผู้ป่วย ที่มีการดำเนินการแบบอิสระ ไม่มีระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาล ซึ่งจากข้อค้นพบดังกล่าว ได้นำไปบูรณาการกับมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) แล้ว และสามารถใช้ร่วมกับแนวทางการจัดเตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ของกรมการแพทย์ได้   

ด้านการศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลพบว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเท่ากับ 105,733 บาทต่อครั้ง แต่ได้รับการชดเชย 60,128 บาทต่อครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาพยาบาล เช่น ค่าใช้จ่ายเนื่องจากมาตรการการป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส เนื่องจากการสูญเสียรายได้จากการปิด/ลดการให้บริการ ซึ่งหลังจากการระบาดคลี่คลายแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพจะมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยกรณีผู้ป่วยนอก คาดการณ์ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 ผู้ป่วยในร้อยละ 0.22 ของงบประมาณทั้งหมดในปัจจุบัน รวมทั้งโรงพยาบาลหลายแห่งอาจขาดสภาพคล่องทางด้านการบริหารงบประมาณ ทั้งนี้ปัญหาอุปสรรคสำคัญในกลไกการอภิบาลระบบในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาคือ การขาดการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนอื่นในระดับนโยบาย การตัดสินใจเชิงนโยบายและการออกมาตรการอาจมีข้อถกเถียงเชิงวิชาการ การไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ การเลือกใช้ข้อมูลเพื่อประเมินและคาดการณ์สถานการณ์การระบาดซึ่งส่งผลต่อการวางแผนจัดการและรับมือล่วงหน้า การขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น เช่น บุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์ป้องกัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ ความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคระบาด ฯลฯ ทั้งนี้งานวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ อาทิ ควรมีการพัฒนางานด้าน Health Literacy และ Digital Literacy อย่างเป็นระบบ ควรมีการพัฒนาเครือข่ายเพื่อจัดทำระบบเตียงผู้ป่วยใน กทม. ควรศึกษาวิจัยพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนนววิถีของการจัดบริการสุขภาพ ควรนำกรอบและวิธีการศึกษาต้นทุนการจัดบริการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ไปขยายผลให้มีการศึกษาและรายงานต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเตรียมแผนสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงพยาบาล ทั้งในช่วงฟื้นฟูและเตรียมรับมือสำหรับวิกฤตทางสุขภาพในอนาคต ฯลฯ  

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว เป็นหนึ่งในงานวิจัยเชิงระบบของ สวรส. ที่เร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ซึ่งระบบบริการสุขภาพเป็นระบบหลัก และระบบสำคัญในการรับมือและตอบสนองต่อสถานการณ์ฯ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับระบบ ทั้งด้านการขยายศักยภาพในการรองรับบริการและส่งต่อผู้ป่วย การเพิ่มการเข้าถึงบริการใกล้บ้าน การบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ บุคลากร การสื่อสารและประสานงานระหว่างหน่วยงาน ฯลฯ ทั้งนี้ในส่วนของข้อค้นพบต่างๆ จากงานวิจัยได้มีการนำไปพิจารณาประกอบในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอในการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รวมทั้ง สวรส.จะเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ผ่านกลไกคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (MoPH Intelligent Unit : MIU) ด้วย  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเผชิญภาวะวิกฤติโดยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก จากข้อมูลแนวโน้มการจัดสรรเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม. ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-12 ก.ค. 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 111,304 ราย อยู่ระหว่างจัดสรรเตียง 18,113 ราย และมีการดำเนินการ Home Isolation 435 ราย สถานการณ์มีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น เกินศักยภาพที่จะรองรับได้ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่อง Home Isolation และ Community Isolation เพื่อลดเวลาวันนอนโรงพยาบาล ช่วยเพิ่มเตียงผู้ป่วยในระบบ และมีการหมุนเวียนการใช้เตียงให้ดีขึ้น ซึ่งทาง สวรส. จะดำเนินการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.