“เอนก” รมว.อว. นำวิจัยและนวัตกรรมเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน ในการประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.66 : ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในพิธีเปิดการประชุม Think Tank Forum ครั้งที่ 3 (The 3rd Think Tank Forum) ภายใต้หัวข้อ “Ten Years of the Belt and Road: China Thailand Partnership for Sustainable Development” โดยมี Professor Gao Xiang ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) กล่าวต้อนรับพร้อมเปิดการประชุม โดยมี ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผศ.ดร.ชุมพล  เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พล.ต.ท. พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และคณะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยเข้าร่วม ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก ชูประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน กับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี มีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของการพัฒนาหลายมิติ นับตั้งแต่จีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ริเริ่มการเชื่อมจีน เอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงทรัพยากร วัตถุดิบ และสินค้า รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้าด้วยกันที่เรียกว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของไทยในยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนา Thailand 4.0 รวมถึงการพัฒนาที่มุ่งเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ BCG ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติและแนวคิดด้านนโยบายทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน นำมาซึ่งความร่วมมือไทย-จีนหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล การยกระดับภาคการผลิตที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม (S-Curves) อาทิ การพัฒนาความเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน การพัฒนาของอนุภูมิภาคระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน รวมถึงโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้า

รมว.อว. กล่าวต่อว่า จีนเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งแนวคิดกระบวนการ และวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนกำลังเป็นที่สนใจในการศึกษาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยจีนใช้เวลาเพียง 40 ปี ในการแก้ปัญหาความยากจนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างความเข้มแข็งภายใน สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน และสร้างความยิ่งใหญ่ออกไปสู่ภายนอกจนเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก ความสำเร็จของจีนได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงศักยภาพของพัฒนาการที่โดดเด่นทุกด้าน ซึ่งนโยบายด้านการวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้ความสำคัญกับสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ทัดเทียมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์เป็นรากฐานอันสำคัญของความเป็นอยู่ของประชาชน และมีความเกี่ยวพันอยู่ในทุก ๆ มิติของการพัฒนาประเทศ อีกทั้งประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดบนฐานความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และฐานการวิจัยบนความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ และ อว. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นว่าการจะพัฒนาประเทศตามแนวคิด กระบวนการ รวมถึงวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อร่วมกันส่งเสริม เชื่อมโยง และผลักดันให้เกิดผลงานวิจัย นวัตกรรมทางสังคมที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้

“การประชุมเชิงวิชาการ Think Tank Forum ครั้งที่ 3 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ และสะท้อนเด่นชัดถึงนโยบายการพัฒนาประเทศภายใต้แนวความคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ต่อไป” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องมามากแล้วกว่า 23 ปี โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยในประเด็นสำคัญและเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้บริหารนำวิจัยและนวัตกรรมจากจีนและไทยเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี พร้อมกันนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและเสนอประเด็นเพื่อจัดทำการศึกษาร่วมกัน พร้อมกับกิจกรรมความร่วมมือมาโดยลำดับ และในปี 2566 นี้ จะได้เกิดความร่วมมือสำคัญระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ในการร่วมจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.