สกสว. จับมือ มูลนิธิ สวค. ถอดประสบการณ์ ระบบการติดตามและประเมินผลต่างประเทศ เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
วันนี้ (30 เมษายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “โครงการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ของผู้ประเมินการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนารูปแบบการติดตามและการประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของชาติ” โดยได้รับเกียรติจากคุณ Ada Ocampo ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากต่างประเทศ ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Introduction to evaluation of the SDGs” เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศถึงแนวทางการติดตามและประเมินผลนโยบายระดับชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการนำมาปรับใช้ในการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลในระบบ ววน. ของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ผศ.ดร. ประพัฒชนม์ จริยะพันธ์ุ ผู้อำนวยการภารกิจการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานในระบบ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และสนับสนุนการติดตามและประเมินผล งานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดระบบการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ววน. ในการเป็นกลไกลพัฒนาประเทศ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา สกสว. ได้ออกแบบให้มีการพัฒนาระบบกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ของผู้ประเมิน เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่เครือข่ายสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศาสตร์การประเมินของผู้ประเมินร่วมกัน จะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของการติดตามและประเมินผลให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายผู้ประเมินในระบบ ววน. ของประเทศไทย
ทางด้าน Ada Ocampo President, IDEAS (International Development Evaluation Association) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า การติดตามและประเมินผลนโยบายระดับชาติ มีการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในหลายประเทศอย่างเช่น ประเทศไนจีเรียและประเทศฟินแลนด์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เกิดจากระบบการติดตามและประเมินผลที่ก่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยการวัดประเมินผลตามแนวคิดแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ผ่านกระบวนการตั้งคำถามอย่างตรงจุด โดยพิจารณาจากการตั้งคำถาม การประเมินผล ซึ่งในที่นี้จะแตกต่างกับการประเมินผลทางเศรษฐกิจ แต่เป้าหมายการประเมินผลนโยบายระดับชาตินั้นจะเป็นระบบการติดตามและประเมินผลของประเทศ ที่มีขั้นตอนและวิธีการอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นคลังข้อมูลที่สามารถเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ