สวทช. จับมือ ส.อ.ท. และกรมโรงงานฯ ดันการวิจัยเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรม ให้เป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ สู่การสิ้นสุดการเป็นของเสีย ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายเกรียงไกร เธียรนุกุลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการผลักดันเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีมาตรฐานการควบคุมที่เหมาะสมทั้งในเชิงวิชาการ
ความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End of Waste) ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดยทีมนักวิจัยได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งการวิจัยการเพิ่มมูลค่ากากของเสียในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร มีผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมที่หลากหลายและมีมูลค่าสูง พร้อมทีมวิจัยในการร่วม Proof Technology และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเปรียบเทียบระหว่างการนำกากของเสียไปทิ้ง ฝัง กลบ เผา กับการนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการเป็นวัตถุดิบสำหรับอีกอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันผลักดันการวิจัยและพัฒนาไปสู่เป้าหมายการใช้ประโยชน์และเป็นหนึ่งในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ เห็นความสำคัญในการผลักดันกฎระเบียบ End of Waste ในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการกล่าว สอดรับกับ นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมุ้งเน้นกากของเสียอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ชีววัตถุ และ แร่ธาตุพื้นฐาน ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ที่มีสมาชิกทั้งอุตสาหกรรมผู้ก่อกำเนิดของเสีย (waste generator) อุตสาหกรรมรับขนส่งของเสีย (waste transporter) และอุตสาหกรรมผู้รับบำบัด กำจัดของเสีย (waste processor) และให้ความสำคัญในการนำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนมากำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน ส.อ.ท. จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนของเสีย หรือ Circular Material Hub (CMH) สำหรับเป็นช่องทางการนำของเสียหรือวัสดุไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงานผ่านสตาร์ทอัพ (Startup) โดยอาศัยแนวคิดการเปลี่ยนของเสียจากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปสู่การเป็นวัตถุดิบหรือ Materials ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง สอดคล้องกับหลักการ End of Waste รวมถึงมีแหล่งทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation one) ที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำหรับให้ทุนในธีม BCG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถสนับสนุนในการทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อผลักดันไปสู่ End of waste ได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความคล่องตัว ดังนั้น ส.อ.ท. จึงเป็นส่วนสำคัญในการร่วมผลักดัน End of waste ของประเทศไทยได้ในทุกห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิด 1) การนำกากของเสียอุตสาหกรรมไปเพิ่มมูลค่า ใช้ประโยชน์ สู่การใช้งานจริง ทั้งในเชิงวิชาการ กิจกรรมผลักดัน งานสัมมนา และการรวมกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง 2) การร่วมวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเป็นวัตถุดิบในอีกอุตสาหกรรม และเกิดการต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน 3) ร่วมพัฒนา และปฏิรูปมาตรฐาน และนำเสนอให้มีการปรับปรุง กฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสิ้นสุดของการเป็นของเสีย และการใช้วัตถุดิบทุติยภูมิ (Secondary Raw Material) รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสำหรับวัตถุดิบทุติยภูมิเพื่อให้เกิด Circular supplies และ 4) การพัฒนาความร่วมมือ กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อให้เกิดธุรกิจที่มีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ธุรกิจวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น อันก่อให้เกิดมาตรฐานการยอมรับทั้งในเชิงเทคนิค ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้วจากความร่วมมือครั้งนี้ คือ การจัดงานสัมมนา End of Waste Thailand โอกาสและการผลักดันสู่ความสำเร็จเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 และการเตรียมดำเนินโครงการนำร่อง ต้นแบบการเพิ่มมูลค่ากากอุตสาหกรรมใน 3 กากอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ โซเดียมซิลิเกตจากขี้เถ้าแกลบ Bone ash จากก้างปลาทูน่า และยิปซั่มบอร์ดจากยิปซั่มสังเคราะห์
ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน มุ่งหวังที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดการเป็นกากอุตสาหกรรม หรือ End of Waste ที่จะนำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรมที่นำกากของเสียมาเป็นวัตถุดิบ หรือ ผลิตภัณฑ์ อย่างแพร่หลาย
มีมาตรฐาน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำไปใช้งาน นำไปสู่สังคมที่มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน