วช. นำ”นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกsPace” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ รพ.อุดรธานี และรพ.ศรีนครินทร จ.ขอนแก่น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนการวิจัยให้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดำเนินการพัฒนานวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ขณะนี้ นวัตกรรมประสบความสำเร็จและมีคุณภาพสูง เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือนักวิจัยไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการในภูมิภาคต่างๆ
ในโอกาสนี้ วช.ได้บริหารการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม “นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก sPace” มอบให้แก่ โรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลศรีนครินทร จ.ขอนแก่น เพื่อให้ผู้พิการได้ใช้นวัตกรรมเท้าเทียมที่เป็นมาตรฐานระดับสากล โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมกันส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ให้กับ นายแพทย์ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี และศาสตราจารย์ นายแพทย์ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร จังหวัดขอนแก่น ณ อาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ชั้น 9 โรงพยาบาล จังหวัดอุดรธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ในโครงการ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และโครงการของขวัญปีใหม่ 2566 จากรัฐบาล เพื่อนำไปมอบให้กับผู้พิการขาขาดตามโรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเท้าเทียมจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ขณะนี้ มุ่งสู่เป้าหมายให้ นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก sPace เข้าไปอยู่ภายใต้สิทธิการรักษาของรัฐบาล อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้พิการคนไทยสามารถเข้าถึงเท้าเทียมไดนามิกส์คุณภาพสูงได้ ถือเป็นการช่วยผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส “sPace” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการคิดค้นและถ่ายทอดให้บริษัท มุทา จำกัด เป็นผู้ผลิต และขึ้นทะเบียนสถานประกอบการผลิตและจดแจ้งผลิตภัณฑ์เท้าเทียมไดนามิกกับ อย. สำหรับเท้าเทียมไดนามิก ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และผ่านการทดสอบตามมาตรการสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนี พร้อมนี้ได้ทำการทดลองทางด้านทางด้านคลินิกโดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถรับ Feedback ของผู้พิการที่ได้รับเท้าเทียมไดนามิกในโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประเมินผลในประเด็นต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มเติมการออกแบบตามความเหมาะสมต่อไป
ในปี 2566 วช.ได้กำหนดการส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก “sPace” ทั่วทุกภูมิภาค และจะได้ติดตามประเมินผลการใช้งาน เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผน และการผลักดันสู่ระบบสุขภาพต่อไป