“นวัตกรรมสู้เซลล์ซอมบี้, ระบบนำส่งนาโน และ FoodSERP” สวทช. ชู วทน. หนุนอุตฯ อาหารและความงามร่วม Vitafoods Asia 2023
สวทช. จัดสัมมนา “Shaping the Future of Beauty & Food Innovation” รับ Vitafoods Asia 2023 ที่จะเกิดขึ้น 20-22 กันยายนนี้ นำเสนอนวัตกรรมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและความงามที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบนำส่งระดับนาโน พรีไบโอติกจากเปลือกส้มโอ โอกาสของสมุนไพรไทย หรือสตาร์ทอัพ สวทช. ที่ใช้องค์ความรู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู้เซลล์ซอมบี้ รวมถึงแพลตฟอร์มตอบความต้องการด้านนี้อย่าง FoodSERP หวังผนึกกำลังติดอาวุธผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกอย่างแข็งแกร่ง รับลูกโมเดลเศรษฐกิจ BCG เคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วย วทน.
ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อาหารและความงามนับเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันสูง การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบความต้องการของ 2 อุตสาหกรรมใหญ่นี้ เสมือนการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการมีจุดแข็ง เพื่อก้าวสู่การแข่งขันในตลาดสากล สวทช. เอง มีการขับเคลื่อนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และสารกลุ่ม Functional Ingredients ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย รับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรม
“เรามุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ส่วนผสมฟังก์ชั่นจากจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ โพสต์ไบโอติกส์ หัวเชื้อจุลิทรีย์ เอนไซม์จากอาหาร และเปบไทด์ รวมทั้งสารสกัดสมุนไพรและจุลินทรีย์ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีการทดสอบเพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของ Ingredients ในด้านต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน หรือที่เรียกว่า FoodSERP ที่ให้บริการการผลิตและวิเคราะห์ทดสอบอาหาร เครื่องสำอาง และส่วนผสมฟังก์ชัน ตามโจทย์ที่เป็นความต้องการเฉพาะ (Tailor made) ของลูกค้า ในรูปแบบ One-stop service โดยทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากสาขา มีวิทยาการความรู้ (know-how) และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่างๆที่พร้อมให้บริการ รวมถึงเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและมีมาตรฐานการผลิตที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าวัตถุดิบ และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุน ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต” ดร. อุรชา กล่าว
ภายงานสัมมนา ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย เริ่มจากการสู้กับเซลล์ซอมบี้ ที่ ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. และผู้ก่อตั้งบริษัท KronoLife ซึ่งเป็นดีปเทคสตาร์ทอัพน้องใหม่ภายใต้ สวทช. ที่พัฒนานวัตกรรมตอบเทรนด์รักสุขภาพและความงาม โดยมุ่งเป้าจัดการรากของการแก่ชราและเซลล์ซอมบี้ โดยเซลล์ซอมบี้นี้ นอกจากไม่ยอมตาย ยังหลั่งสารทำให้เกิดการอักเสบ เร่งกระบวนการแก่ นำไปสู่ปัญหาของผิวพรรณ เช่น ริ้วรอย จุดด่างดำ รวมถึงโรคเสื่อมต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง และอายุขัยที่สั้นลง ซึ่ง KronoLife ได้พัฒนาสารออกฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง มาจัดการกับเซลล์ซอมบี้ทั้งสารทำลายซอมบี้เซลล์ (Senolytics) และสารฟื้นฟูการแก่ชราของเซลล์ (Senomorphics) และนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเสริมอาหาร ที่มีผลวิจัยยืนยันทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งนวัตกรรมจัดการรากของการแก่ชราของ KronoLife ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ชะลอวัยที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป ที่แค่บรรเทาการแก่ที่ปลายเหตุ นอกจากนี้ยังเพิ่มความน่าสนใจและสร้างเทรนด์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพไทย นอกจากนี้ KronoLife ยังร่วมกับ นาโนเทค สวทช. ให้บริการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารออกฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และเสริมอาหารเพื่อความงาม โดยใช้โมเดลทดสอบในผิวหนังของคน ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และตอบโจทย์สินค้าเทรนใหม่ที่ต้องการงานวิจัยรองรับเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด
เทคโนโลยีระบบนำส่งนาโน ที่ดร. มัตถกา คงขาว นักวิจัยอาวุโส นาโนเทค สวทช. นำเสนอ เป็นการใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเครื่องสำอาง การออกแบบระบบนำส่งที่เหมาะสมกับโจทย์ของแต่ละสารสกัด ทาถูภายนอก, นำส่งผ่านผิวหนัง หรือผ่านการกิน อนุภาคนาโนที่ออกแบบก็ต้องเหมาะสมกับการใช้งาน พร้อมยกตัวอย่างพืชสมุนไพรที่รัฐบาลกำลังผลักดัน คือ สารสกัดกระชายดำ ที่ทีมวิจัยทดสอบแล้วว่า สารออกฤทธิ์ในกระชายดำ สามารถพัฒนาเป็นสารเสริมอาหารเชิงฟังก์ชั่นได้ ด้วยฤทธิ์การลดไขมัน และป้องกันโรค NCDs ได้ รวมถึงมีฤทธิ์ในแง่ของการชะลอวัย ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องความคงตัวของสารออกฤทธิ์ การละลายไม่ดี ชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) ไม่ดี จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี อย่างเทคโนโลยีการกักเก็บระดับนาโนมาเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ข้อจำกัดในด้านต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้กับสารสกัดสมุนไพรอื่นๆ ได้อีกด้วย
เพคตินจากเปลือกส้มโอ ดร. ชัยวุฒิ กมลพิลาส นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ แห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เพคตินที่ใช้ในอุตสาหกรรมมาจากส้มเปลือกหนาหรือเปลือกแอปเปิล นำสู่การวิจัยแพคตินในส้มโอ เนื่องจากเป็นผลไม้ไทยที่เป็นส้มเปลือกหนาชนิดหนึ่ง ที่มีการปลูกมาถึง 2 แสนตันต่อปี เปลือกขาวที่มีอยู่ถึง 30% ของผลส้มโอจะมีเหลือทิ้งมากกว่า 7.5 หมื่นตัน เป็นวัตถุดิบที่จะสามารถสกัดเพคตินมาใช้งานได้ แต่ความท้าทายหนึ่งคือ เปลือกขาวเหล่านั้น กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีผลกับต้นทุนการผลิตเพคติน ซึงงานวิจัยของ สวทช. นี้ วางโจทย์หลักในการศึกษากระบวนการสกัดเพคตินที่เหมาะสม ได้ผลผลิตสูง คุณสมบัติที่ดี ซึ่งผลลัพธ์ในการวิจัยคือ แพคตินที่สกัดด้วยกระบวนการที่พัฒนาขึ้นนั้น ได้ปริมาณที่สูง ประสิทธิภาพดีและสามารถแข่งขันได้กับเพคตินทางการค้า ที่สำคัญ ยังพบลักษณะเฉพาะที่เพคตินจากเปลือกส้มโอแตกต่างจากแพคตินทางการค้า นั่นคือ สมบัติการเกิดเจลและสมบัติการนำไปใช้เป็นสารเพิ่มความคงทนในผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน เซลลูโลสที่เหลือจากกระบวนการสกัด ก็สามารถนำมาทำเป็นเซลลูโลเพคติน สำหรับใช้เป็นสารทดแทนไขมัน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันสูงเพื่อลดไขมันในผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน ทีมวิจัยมีการขยายกำลังการผลิตสู่ระดับ 500 ลิตร และพบสมบัติใหม่ๆ เช่น สมบัติการเป็นพรีไบโอติกส์, ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
ด้านคุณเมธา สิมะวรา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอ “ภาพรวมสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร” โดยชี้ให้เห็นภาพของอุตสาหกรรมสมุนไพรในปัจจุบันที่กำลังเป็นที่จับตา ด้วยมีโอกาสอย่างมากในตลาดโลก แต่ไทยเรายังส่งออกพืชสมุไพรในรูปของวัตถุดิบที่ราคาไม่สูงนัก ซึ่งหากต้องการเพิ่มมูลค่า ควรแปรรูป โดยเฉพาะพืชสมุนไพรหลักที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นไพล ขมิ้นชัน บัวบก กระชายดำ และมะขามป้อม ใช้เทคโนโลยีและการวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ดึงจุดเด่นของสมุนไพรในแต่ละชนิด ช่วยเพิ่มมูลค่า เปิดโอกาศการต่อยอดสารสกัดจากสมุนไพรไทยสู่ตลาดสากล และยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
ตัวช่วยด้าน วทน. ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ สวทช. นำเสนอ FoodSERP ที่ ดร. กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน สวทช. ชี้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเกม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารใหม่ ซึ่งสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างสมุนไพร สุขภาพและความงามได้อีกด้วย โดยมองโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการ วทน. เข้าไปเสริมจุดเด่น ลดจุดด้อย สร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง โดยแพลตฟอร์ม FoodSERP นับเป็น One Stop Service ตั้งแต่วัตถุดิบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับห้องปฏิบัติการ การวิเคราะห์ทดสอบ การขยายกำลังผลิต และการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อทดลองตลาดหรือการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ด้วยบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เครื่องมือต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงโรงงานต้นแบบต่างๆ รองรับความต้องการ
สำหรับผู้ที่สนใจ สวทช. ยังเข้าร่วมในงาน “ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2023” (Vitafoods Asia 2023) ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2566 ที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีบูธนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมสารสกัดจากนาโนเทค ได้แก่ อนุภาคนาโน CBD, อนุภาคนาโนพลูคาว, อนุภาคนาโนขมิ้นชัน และอนุภาคบัวบก รวมถึงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภายใต้แพลตฟอร์ม FoodSERP ได้แก่ โพรไบโอติก โพสต์ไบโอติก อาหารโปรตีนทางเลือกจากพืชและจุลินทรีย์ น้ำส้มสายชูจากผลไม้ไทย ไลโซไซม์เปปไทด์ และผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น ฟลาวมันสำปะหลังปราศจากกลูเตน โปรตีนเวย์ และอีก 2 หัวข้อสัมมนาคือ “KronoLife’s Vision: Transforming Thailand’s Health & Beauty Landscape with Innovations Targeting Aging’s Root Causes” โดยดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี ในวันที่ 21 ก.ย 66 เวลา 15:00 – 15:30 น. และ “R&D INSIGHT AND BIOLOGICAL TESTING FOR FUNCTIONAL INGREDIENTS INNOVATION” โดย ดร. ธงชัย กูบโคกกรวด, ดร. ศศิธร เอื้อวิริยะวิทย์ และนายจักรวาฬ ยศถาวรกุล ในวันที่ 22 ก.ย 66 เวลา 13:30 – 14:00 น.