ปส. ลงพื้นที่นำร่องภาคตะวันออกสร้างความตระหนักเชิงรุก เฝ้าระวัง-ป้องกันการปนเปื้อนรังสีในอุตสาหกรรมหลอมเหล็ก
ในวันนี้ (22 เมษายน 2565) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่นำร่องภาคตะวันออกสร้างความตระหนักเชิงรุกในอุตสาหกรรมหลอมเหล็ก ป้องกันการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีในอุตสาหกรรมเศษโลหะ พร้อมแจงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังภัยทางรังสี ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “สร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันการปนเปื้อนรังสีในอุตสาหกรรมหลอมเหล็ก” ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยกล่าวว่า กิจกรรมนี้เน้นเสริมความรู้และชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้แก่สถานประกอบการทางรังสีและสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมหลอมเหล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 18 หน่วยงาน เพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีในอุตสาหกรรมเศษโลหะก่อนนำเข้ามาในประเทศหรือส่งออกนอกประเทศอันจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการกากกัมมันตรังสี เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย และที่สำคัญกิจกรรมในครั้งนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ตั้งสถานประกอบการ เพื่อบูรณาการแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมกันนี้ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมจัดนิทรรศการอีกด้วย
“ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าเศษโลหะเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งอาจมีโอกาสที่จะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีได้หากมาตรการเฝ้าระวังหรือระบบตรวจจับสัญญาณรังสีไม่มีประสิทธิภาพมากพอ อาจทำให้เศษโลหะที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีเล็ดลอดเข้าสู่ระบบการหลอมละลายเพื่อขึ้นรูปเป็นโลหะใหม่ เกิดการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีกระจายไปในผลิตภัณฑ์โลหะ กากขี้เถ้า และเตาหลอม โดยที่ผ่านมา ปส. และกรมศุลกากรได้ร่วมกันแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบตู้สินค้านำเข้าที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทางโดยไม่เปิดตู้เพื่อตรวจพิสูจน์ ซึ่งหากเศษโลหะที่ส่งออกไปยังต่างประเทศส่งคืนตู้สินค้าที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีกลับมายังประเทศไทย จะสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมโลหะของประเทศ และยังเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนและสิ่งแวดล้อม ปส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องป้องกันและเฝ้าระวังอย่างสูงสุด” นายเพิ่มสุข กล่าวในตอนท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองตรวจสอบทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 1605