“ปลายฝน ต้นหนาวนี้”  ไปเที่ยว สถานีวิจัยลำตะคอง วว. แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กันเถอะ

ปีนี้ฤดูหนาวของไทยเราจะเริ่มในปลายเดือนตุลาคม 2566 และสิ้นสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566  พร้อมระบุว่าฤดูหนาวจะช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์ และจะมีอากาศเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2566 ถึงปลายเดือนมกราคม 2567

ในวันหยุดยาวฤดูหนาวดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ขอเชิญชวนทุกท่านที่ยังไม่มีแพลนหรือมีแพลนมาเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช ณ สถานีวิจัยลำตะคอง (Lamtakhong Research Station) หน่วยงานในภูมิภาคของ วว. ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเช็คอินของโคราช โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ การเกษตร การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและแมลง

วว. จัดตั้งสถานีวิจัยลำตะคอง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ให้เป็นพื้นที่สำหรับดำเนินการวิจัยทางด้านการเกษตรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคม  มีภารกิจและเป้าหมายของสถานีฯ มุ่งวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานวิจัยเพื่อนําไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานีวิจัยลำตะคอง  มีความสะดวกสบาย พร้อมต้อนรับทุกท่านด้วยที่จอดรถกว้างขวาง ห้องน้ำสะอาด อยู่ไม่ไกลจากเขาใหญ่ และที่สำคัญอยู่ใกล้เขื่อนลำตะคอง หนึ่งในลำน้ำสายโบราณที่เกิดขึ้นพร้อมกับการยกตัวของที่ราบสูงโคราชหรือแอ่งโคราช ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะหลายแอ่ง และยังมีภูเขาทั้งขนาดใหญ่ ขนาดย่อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโคราช (Khorat  Geopark) ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นอุทยานธรณี (UNESCO  Global  Geopark)  แห่งที่ 2 ของประเทศไทย

เมื่อเดินทางมาถึงสถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่  333 หมู่ที่ 12 ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ท่านจะได้พบกับพรรณไม้แปลกๆ ที่รวบรวมมาจากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วยพรรณไม้หายาก เช่น

โมกราชินี (Wrightia  sirikitiae) พืชถิ่นเดียวของไทยที่พบเฉพาะบนเขาหินปูนในภาคกลางของไทย

กล้วยคุนหมิงหรือกล้วยยูนนาน (Musella lasiocarpa) พืชใกล้สูญพันธุ์จากจีนตอนใต้

สร้อยสยาม (Phanera  siamensis) พืชถิ่นเดียวจากภาคเหนือ

ปาล์มเจ้าเมืองถลาง (Kerriodoxa  elegans) พืชถิ่นเดียวจากภาคใต้ เป็นต้น

จุดไฮไลท์ที่สถานีวิจัยลำตะคองภูมิใจนำเสนอ คือ มะหิ่งซำ (Glyptostrobus  pensilis) พืชเมล็ดเปลือยในกลุ่มสนแปกลมซึ่งกำลังถูกคุกคามและจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical endanger) จากการประเมินของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN) คาดว่ามีจำนวนในธรรมชาติน้อยกว่า 250 ต้น

พืชอีกชนิดที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน คือ ปิศาจทะเลทราย (Welwitschia mirabilis) หนึ่งในพืชปรากฎบนโลกมาตั้งแต่ปลายยุครุ่งเรืองของไดโนเสาร์ จนได้รับฉายาว่าฟอสซิลมีชีวิต (Living fossil) ในปัจจุบัน

กิจกรรมที่ทุกท่านพลาดไม่ได้ คือ ร่วมย้อนอดีดไปยังโลกยุคบรรพกาล เพื่อย้อนเวลาไปยังยุคที่โลกของเราเต็มไปด้วยพรรณไม้กลุ่มเฟิร์นและพืชเมล็ดเปลือยนานาชนิดใน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferus period) และพืชชนิดอื่นๆอีกหลากหลายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 1) ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงวิวัฒนาการพรรณพฤกษา พืชดอกมหัศจรรย์ ความงามจากธรรมชาติ พืชหายากและพืชเฉพาะถิ่น สมุนไพรและเครื่องเทศ และพืชเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีการใช้ประโยชน์มายาวนานควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น

โกโก้ (Theobroma cacao) พืชเครื่องดื่มขึ้นชื่อจากทวีปอเมริกาที่มีเรื่องราวมาพร้อมกับความรุ่งเรืองของอารยะธรรมมายา

กาแฟโรบัสตา (Coffea canephora) เครื่องดื่มยอดฮิตจากทวีปแอฟริกา

เฉาก๊วย (Platostoma palustre) พืชเครื่องดื่มและสมุนไพรจีนที่ขึ้นชื่อของภูมิภาคเอเชีย

และอีกหนึ่งจุดไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้ในอาคารแห่งนี้  คือ “ไอยริศ” (Zingiber sirindhorniae) พรรณไม้พระราชทานนามจากเขาหินปูนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะบานเพียงปีละครั้งระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

นอกจากการชมพรรณไม้ต่างๆ แล้ว การเก็บภาพความประทับใจเป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น การถ่ายภาพคู่กับใบขนาดมหึมาของ ปาล์มเจ้าเมืองตรัง (Licuala peltata var. sumawongii) พืชหายากที่แทบจะไม่พบในธรรมชาติแล้วจากภาคใต้ เป็นต้น

ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน  เป็นจุดศึกษาธรรมชาติที่สำคัญของสถานีวิจัยลำตะคอง โดยท่านจะได้สัมผัสแมลงที่มีชีวิต โดยเฉพาะเหล่าผีเสื้อ ที่มาบินโชว์อวดโฉมละลานตา หรือจะเป็นเหล่าแมลงนักล่าภายใต้หน้ากากที่สวยงาม อาทิ

ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้สีชมพู แมลงที่พรางตัวได้อย่างแนบเนียนโดยใช้สีสันที่กลมกลืนไปกับกลีบดอกสีชมพูของกล้วยไม้

หรือขณะที่ท่านกำลังเที่ยวชมอยู่นั้น อาจจะต้องสังเกตเพิ่มเติมอีกนิด เพราะกิ่งไม้ที่ท่านเห็นอาจจะไม่ได้เป็นดังที่ท่านคิด ด้วยเป็นการพรางตัวที่แนบเนียนและตราตรึงผู้พบเห็นได้มากที่สุด นั่นก็คือ การจัดแสดง ตั๊กแตนกิ่งไม้และตั๊กแตนใบไม้ นอกจากนี้ยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่แปลกและหาชมได้ยากกำลังรอทุกท่านได้เข้ามาเยี่ยมชมและทำความรู้จัก

สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่น่าสนใจในเวลาว่าง เพื่อเสริมทักษะ  เปิดการเรียนรู้และประสบการณ์แปลกใหม่ นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน   ได้แก่  กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เกษตร “Lamtakhong  Science  Camp”  โดยน้องๆ จะได้ร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย ท้าทายความสามารถและเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมมีทีมงานพี่เลี้ยงค่ายใจดี ที่พร้อมสนับสนุนน้องๆ ให้กล้าคิด กล้าทำ และกล้าเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่น่าสนใจให้เที่ยวชม  อาทิ  แปลงสาธิตการปลูกผักเชิงระบบ แปลงรวบรวมผักพื้นบ้าน

สถานีวิจัยลำตะคอง…แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์    ยังมีห้องประชุมสัมมนาที่พร้อมรับรองการจัดกิจกรรมได้ถึง 150-200 คน และมีบริการห้องพักสำหรับรับรองจำนวน 100 เตียง ในราคาพิเศษเริ่มต้นเพียงหลักร้อยเท่านั้น  พร้อมสัมผัสกับธรรมชาติ วิวเขื่อนลำตะคองที่สวยงาม  พักดื่มเมนูกาแฟอาราบิกาหอมๆ จากพื้นที่เขายายเที่ยง เครื่องดื่มสมุนไพรน้ำมะขามป้อมสดๆ ปลอดสารพิษเพิ่มวิตามินซีให้ร่างกาย ชมบรรยากาศพระอาทิตย์ตกยามเย็นที่เขื่อนลำตะคอง และแวะปั่นจักรยานที่เขายายเที่ยง เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ ชมวิวริมเขื่อน พร้อมกังหันลมที่สวยงาม

          พิกัดสถานีวิจัยลำตะคอง :  https://maps.app.goo.gl/URQtGxsdWwXNkZop7

  • เปิดให้เข้าชม : 08.30 -16.30 น.
  • ติดต่อ :   ศึกษาดูงาน  โทร. 044 390 107, 098 193 4332 (คุณเบญจมาศ)

         :  ค่ายวิทยาศาสตร์   โทร. 081 467 4214  (คุณศักดิ์มงคล)

         :  ที่พัก ห้องประชุม  โทร. 087  079 3330  (คุณอรุณวรรณ)

  • Facebook :  สถานีวิจัยลำตะคอง

สถานที่ใกล้เคียง

  • เขื่อนลำตะคอง
  • ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง
  • กังหันลม เขายายเที่ยง
  • ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่

Leave a Reply

Your email address will not be published.