กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา ดึง 6 องค์กร ผนึก สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยี-นวัตกรรม ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ สู่ ‘สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้

(วันที่ 20 ตุลาคม 2566) ณ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา(ฝั่งวุฒิภา) : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เข้าร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest) ” โดยมี นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นายประทีป บินชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ร่วมลงนามความร่วมมือโดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา เป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา กล่าวว่า ตามที่จังหวัดแพร่ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” (เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566) ณ หอประชุมใหญ่โรงเรียนป่าไม้ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งริเริ่มแนวคิดโดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา ในการที่จะฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ในจังหวัดแพร่และสร้างเครือข่ายโดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมนั้น เพื่อให้การดำเนินงานการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้เล็งเห็นว่าควรเชิญให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาร่วมดำเนินการ ซึ่ง สวทช. มีภารกิจอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรให้เกิดการขยายผลอย่างทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานและสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและชุมชน กับภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกลไกการดำเนินงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” เพิ่มอีกหนึ่งฉบับ โดยเป็นการลงนาม 7 ฝ่าย คือ กรมป่าไม้ จังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ เทศบาลเมืองแพร่ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา

“บันทึกความร่วมมือดังกล่าวมีขอบเขตการดำเนินงานของ สวทช. ได้แก่ 1.พัฒนาและยกระดับทักษะ (re-skill/up-skill) ในการบริหารจัดการป่าชุมชนให้กับกรรมการป่าชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง 2.ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ชุมชน 3. ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ และ 4. สนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้และให้คำปรึกษาในการสร้างมูลค่าจากการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากสิ่งแวดล้อม (คาร์บอนเครดิต) รวมถึงการลดการสร้างมลพิษจากการเผาป่าและวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตร ภายใต้การร่วมกันจัดหาทรัพยากรในการดำเนินงาน และการสนับสนุนจากจังหวัดแพร่ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่” กมธ.การอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา กล่าว

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการยกระดับขีดความสามารถ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า (Economy Under the Forest)” ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ สวทช. โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนภาคการเกษตรสู่ความยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) และมีภารกิจหลักในการทำงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งการเร่งรัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. การทดสอบ การสังเคราะห์เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคการเกษตร ตลอดจนสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่มีความยั่งยืนในพื้นที่ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ คือ ช่วยชุมชนลดต้นทุน สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ด้านสังคม ช่วยลดการอพยพย้ายถิ่น เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นในชุมชน และด้านสิ่งแวดล้อม เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวไปพร้อมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นแนวทางที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

ด้านนางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามความร่วมมือฯ นี้ สวทช. โดย สท.จะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัย สวทช. ในด้านต่าง ๆ เพื่ออบรมให้กับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์และต่อยอดกับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมต่อไป โดยมีจำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ หลักสูตรสำรวจและการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืช พืชป่า พืชหายาก พืชสมุนไพร สำหรับคลังทรัพยากร หลักสูตรสำรวจความหลากหลายของเห็ดกินได้ในป่าชุมชน 2.การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อาทิ หลักสูตรการขยายพันธุ์ไผ่พันธุ์ดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หลักสูตรการผลิตไม้ดอก ไม้ประดับสำหรับแหล่งท่องเที่ยวในป่าชุมชน หลักสูตรถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่ากินได้ หลักสูตรการเลี้ยงชันโรง หลักสูตรการเพาะเลี้ยงครามและฮ่อมสำหรับผลิตสีย้อมธรรมชาติ 3.การประยุกต์ใช้เกษตรสมัยใหม่ อาทิ หลักสูตรการใช้เทคโนโลยี Smart IoT และระบบการให้น้ำในแปลงเพาะชำกล้าไม้ หลักสูตรสำหรับการติดตาม PM2.5 และเฝ้าระวังไฟป่าในป่าชุมชน (เครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่น-Nano Sampler) หลักสูตรการใช้เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อการผลิตพืช (เมล็ดพันธุ์ สมุนไพร พืชผักมูลค่าสูง) และ 4.การท่องเที่ยว อาทิ หลักสูตรการประยุกต์ใช้นวนุรักษ์แพลตฟอร์มเพื่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงหลักสูตรการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published.