“ไทยพร้อมลุยตลาดอุตสาหกรรมอวกาศด้านดาวเทียม หลังผลการศึกษาทางเทคนิคชี้ความสำคัญอยู่ที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนและการกำกับดูแลที่มุ่งเน้นการใช้งานตามภารกิจเฉพาะด้าน”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้และเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาแนวนโยบายการให้บริการและการกํากับกิจการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจําที่ (NGSO) เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวทางการอนุญาต กำกับดูแล และแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมในให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ของประเทศไทย รวมทั้งแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาวเทียม และนโยบายการส่งเสริมการเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทยภายใต้ชื่องาน “Technical Programme: Thailand NGSO Policy Guideline: The Impact from Present to the Future.” ในงานสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2566 หรือ Thailand Space Week 2023 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง M111 A-B-C ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้ร่วมเข้าฟังกว่า 200 คนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กลยุทธ์ การอนุญาต กำกับดูแลในการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ของประเทศไทยที่ดำเนินการศึกษามา สามารถสรุปได้ 2 แนวทาง แนวทางแรกคือนโยบายส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion Policy) จะต้องคำนึงถึง 4 เสาหลัก ได้แก่ นโยบายด้านอวกาศที่มีความชัดเจน เงินทุนจากภาครัฐ การจัดเก็บอัตราภาษี และกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ จะต้องทำให้เกิดการเข้าถึงตลาด (Access to Market) การเปิดตลาดหรือมีตลาดใหม่ ๆ ทั้งนี้ หากจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจภายในประเทศ จะต้องก่อเกิดการจัดซื้อ-จัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) เนื่องจาก ตลาดภาครัฐเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) จะต้องมุ่งเน้นถึงเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย และแนวทางที่ 2 นโยบายการกำกับดูแล (Administrative Policy) โดยมุ่งเน้นไปที่ “Public sector Competitiveness” แนวทางนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นประสิทธิภาพตลาด (Efficient Market) แต่ต้องการมุ่งเน้นวัตถุประสงค์หรือภารกิจเฉพาะด้าน เช่น เพื่อให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อภารกิจการศึกษา การป้องกันสาธารณภัย เหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ และภารกิจด้านความมั่นคง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กสทช. อาจต้องพิจารณาให้ภาคเอกชนมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสาร การพัฒนาบุคลากรในสาขาที่สำคัญ โดยอาจร่วมมือกับสถานศึกษาของไทยในการสร้างหรือปรับทักษะ (Upskill) บุคลากรตามที่ต้องการ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อาทิ GISTDA มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมในหลายระบบย่อย เป็นต้น ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
สำหรับงานสัมมนาฯครั้งนี้ มีสาระสำคัญใน 2 หัวข้อ ได้แก่ การเสวนา หัวข้อ “Beyond 5G: Unlocking Telecommunication Potential through Space Technology” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้แทนสำนักงาน กสทช. / Ministry of Internal Affairs and Communications: MIC (Japan) / Softbank Corp. (Japan) / Sony Group Corporation (Japan) เข้าร่วมเสวนา ส่วนอีกหัวข้อหนึ่งเป็นการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อสรุปผลการศึกษาด้านต่าง ๆ ของโครงการ อาทิ ด้านการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ในประเทศไทย ด้านกฎหมายและนโยบายการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับประเทศไทย และด้านแนวโน้มสภาพอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียม และการกำกับดูแลการให้บริการ