สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ 2567” ครั้งที่ 25
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30 น. ไบเทคบางนา – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 25 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เครื่องกลเติมอาการที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นักประดิษฐ์-นักวิจัยสาขาต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยการจัดงานจะจัดไปจนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ศกนี้
ในการนี้ได้พระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย ทั้งในส่วนรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น และรางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวนกว่า 170 คน ในปีนี้มีนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 เข้ารับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 9 คน จาก 7 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ มีผู้ได้รับรางวัล 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร.อุบลลักษณ์ รัตนศักดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.พญ.ธันวีร์ ภูธนกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา มีผู้รับรางวัล 2 ท่าน คือ รศ.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขานิติศาสตร์ รศ. ดร. นาถนิรันดร์ จันทร์งาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสังคมวิทยา ศ. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ สาขาการศึกษา ศ. ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตร นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย และนวัตกรรม ด้านการเกษตร การแพทย์ คุณภาพชีวิต สังคมสูงวัย มากกว่า 1000 ผลงาน ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มาจากนักประดิษฐ์ไทย นักประดิษฐ์นานาชาติมากกว่า 500 ผลงานจาก 30 องค์กรนานาชาติ รวมถึงโซนของการจัดแสดงผลงานระดับเยาวชน ในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา กว่า 700 ผลงาน ที่ผ่านการคัดเลือกในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ Thailand New Gen Invertors Award 2024 : I-New Gen Award 2024 ซึ่งจะมีการประกาศผลในงานที่ 6 กุมภาพันธ์
ในการนี้ เสด็จทอดพระเนตรผลงานที่มาจัดแสดง อาทิ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมด้วยนวัตกรรมจากสารสกัดธรรมชาติ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซักผ้าไหมด้วยนวัตกรรมจากสารสกัดธรรมชาติ เพื่อประยุกต์ใช้กับ ผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมไทย โดยมีแนวคิด “ซักผ้าไหมอย่างไรโดยไม่ต้องใช้น้ำยาซักแห้ง” Easy Care Silk ซึ่งนวัตกรรม นี้จะทำให้การซักผ้าไหมไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป สกัดจาก น้ำมะพร้าวผลแก่บริสุทธิ์ด้วยวิธีกายภาพ (Physical extraction) และแบบการสกัดเปียก (Wet process) รวมทั้ง น้ำด่างขี้เถ้า ทั้งนี้สารสกัดธรรมชาติเหมาะสมกับผ้าไหมทุกประเภท มีค่าเฉลี่ยสมบัติการคืนตัวต่อการยับ ความกระด้างของผ้าไหม และการทิ้งตัวของผ้าไหม อยู่ในระดับที่ดีมาก โดรนอัจฉริยะ (Smart Drone จาก สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เครื่องมือที่ไม่สามารถมองข้ามได้ในหลายอุตสาหกรรม ด้วยความสามารถในการประยุกต์ใช้ที่หลากหลาย เช่น โดรน เพื่อการขนส่ง ถ่ายภาพ การเกษตร กู้ภัยดับเพลิง ฯลฯ สามารถใช้งานได้ที่หลากหลายและความสามารถที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีทำให้โดรนอัจฉริยะเป็นเครื่องมือที่มีค่าในยุคสมัยนี้ นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีระบบรองรับน้ำหนักแขน สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาการเดินการทรงตัวและหลังโค้งงอ จาก จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการออกแบบจากปัญหาของผู้ป่วยที่แท้จริง โดยอิงจากความต้องการของผู้ป่วย และผู้ดูแล ร่วมกับทีมแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักออกแบบผลิตภัณฑ์ วิศวกรโรงงาน เจ้าของโรงงานผลิตอุปกรณ์ ทางการแพทย์ ผู้วิจัยจึงออกแบบนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีระบบรองรับน้ำหนักแขน โดยจะมีการประยุกต์ คุณสมบัติพิเศษของวอล์คเกอร์ช่วยเดินแบบมีล้อ ไม้เท้าค้ำยัน และอุปกรณ์รองรับน้ำหนักแขน มาใช้ในการพัฒนา นวัตกรรม โดยเน้นให้ใช้งานง่าย สามารถนำกลับไปใช้จริงที่บ้านหรือสถานที่ต่าง ๆ เครื่องสกัดเทอร์ปีนและน้ำมันหอมระเหยแบบเคลื่อนที่จากสมุนไพรและดอกไม้ หอมไทยโดยใช้เทคโนโลยีก๊าซตัวทำละลายควบแน่นที่อุณหภูมิและแรงดันต่ำเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม การผลิตยาแพทย์แผนไทยและเวชสำอาง จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเทคโนโลยีที่ปฏิรูปกรรมวิธีการสกัด ทำให้การสกัดเทอร์ปีน น้ำมันหอมระเหยและสารสำคัญจากสมุนไพร ดอกไม้หอม หรือวัตถุดิบจากสัตว์ กลายเป็นเรื่องง่าย โดยเครื่องสกัดที่พัฒนาขึ้นสามารถเคลื่อนที่ไปสกัดยังแหล่งวัตถุดิบจริง ซึ่งเหมาะกับ โครงสร้างเกษตรกรรมของประเทศที่มีลักษณะเป็นแปลงเล็ก เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย แหล่งวัตถุดิบอยู่ห่างไกลและกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีความยากจน ทำให้การสกัดเกิดขึ้นที่พื้นที่เพาะปลูกสามารถ เคลื่อนย้ายเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว โดยได้มีการลงพื้นที่การสกัดในหลาย ๆ สถานที่ เช่น สวนกุหลาบที่จังหวัดเชียงใหม่ สวนกัญชงที่จังหวัดชัยนาท สกัดพืชกระท่อมที่วิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดสระบุรี เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานจะได้พบนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน อาทิ นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, นิทรรศการ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ, นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงานเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ, มหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024, นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024, กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โซนตลาดสินค้าและนวัตกรรมจำหน่ายในราคาพิเศษ นิทรรศการ Highlight Zone อาทิ นิทรรศการ The Survival game ตะลุยแดนภัยพิบัติ ที่นำเสนอเกมส์หนีภัยสึนามิในโลกเสมือนจริง นิทรรศการ Fruit Fun Fair ผลไม้หรรษา ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ส้มโอฉายรังสี ทุเรียน Fresh cut ฯลฯ และ การเสวนาและฝึกอบรม มากกว่า 100 หัวข้อ อาทิ การเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประดิษฐ์คิดค้น การฝึกอบรมอาชีพ
ลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th ผู้สนใจสามารถแวะชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์นี้ ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา