ดีพร้อม ออกสตาร์ท RESHAPE THE FUTURE ผลักดัน 28 สุดยอดธุรกิจสร้างสรรค์ ประชันต้นแบบผลงานบนเวที Design Award คาดสามารถกระตุ้น ศก. กว่า 500 ล้านบาท
กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ออกสตาร์ทนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านยกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) เดินเครื่องยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านการยกระดับธุรกิจสร้างสรรค์ให้ดีพร้อมสู่วิถีใหม่ (DIPROM Creative-Next 2023) ดึงกูรูด้านนวัตกรรมและออกแบบชั้นนำร่วมผลักดัน 28 ธุรกิจสร้างสรรค์ ประชันต้นแบบผลงานบนเวที Design Award ในระดับสากล พร้อมมอบรางวัล DIPROM Creative-Next Leader ประจำปี 2023 คาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีปริมาณจำกัด ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเริ่มตีตลาดในยุคไร้พรมแดน ผู้บริโภคมีเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา สะท้อนให้เห็นเทรนด์สำคัญในอนาคตที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมและทัศนคติการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยในการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ที่ส่งจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและพร้อมรับกับอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ในปี 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม มีทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม การสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการสนับสนุนสร้างพลังสร้างสรรค์ ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีคุณค่า คุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ผ่าน “กิจกรรมยกระดับธุรกิจสร้างสรรค์ให้ดีพร้อมสู่วิถีใหม่” (DIPROM Creative – Next)
นายภาสกร กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จำนวน 28 ธุรกิจสร้างสรรค์ ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการไปขยายผลและต่อยอดการดำเนินธุรกิจแนวใหม่ รองรับการเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ โดยผ่านกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ การบ่มเพาะไอเดียสร้างสรรค์ การศึกษาหน่วยงานต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงสร้างสรรค์ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมและงานออกแบบหลากหลายสาขา อาทิ Packaging Design Fashion Design Service Design Industrial Design และ Graphic Design จนเกิดผลงานต้นแบบที่เป็นรูปธรรมพร้อมที่จะก้าวเดินบนเส้นทางสู่ตลาดสากล
ดีพร้อม ได้ออกแบบกระบวนการให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และพัฒนาสร้างสรรค์ไอเดียร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในวงการนวัตกรรมและการออกแบบ การเข้าร่วม Creative Idea Camp เพื่อบ่มเพาะไอเดียสร้างสรรค์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในระดับสากลและได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการปรึกษาแนะนำเชิงลึกและร่วมกันพัฒนาต้นแบบทั้งในพื้นที่โรงงาน สำนักงานออกแบบ และ Maker Space เพื่อที่จะกล้าเปลี่ยนแปลงกระบวนความคิด กระบวนการทำงาน และมุมมองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสู่ระดับสากล (Next To Global) นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้จัดแสดงต้นแบบผลงานนวัตกรรมและงานออกแบบที่มีความโดดเด่น อาทิ 1) ถังย่อยสลายเศษอาหาร ของบริษัท มีเทค โมลด์แอนด์พาร์ท จำกัด ที่ได้ร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการออกแบบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งจุดเด่นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ทันสมัย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการประยุกต์รูปทรงเรขาคณิตทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามเหมาะกับการใช้งานในห้องครัว 2) ชุดยูนิฟอร์มบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกฉุกเฉิน คอลเลคชั่น “Wellness Warriors” โดยผลิตจากผ้า Recycle Cotton & Polyester ที่ผ่านกระบวนการ ReDeFi ของบริษัท เรดวูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้าน Fashion Design ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง ระบายอากาศได้ดี มีความคล่องตัว และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการทำงานและออกแบบหน้าที่ประโยชน์ใช้สอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3 ) เตาแก๊สพกพา ลัคกี้เฟรม รุ่น Witty ภายใต้แนวคิด “NEW LOOK” To “New LIFESTYLE” การกล้าฉีกตัวตนเดิม เปลี่ยนภาพจำของเตาแก๊สที่คุ้นเคย ของบริษัท ลัคกี้เฟรม จำกัด ที่ทำงานร่วมกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์จากห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเพื่อสังคม (CIS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สู่การสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่แสดงออกถึงไลฟ์สไตล์ความเป็นตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใหม่ เกิดการยกระดับผลงานผลิตภัณฑ์ที่มีรูปทรงแปลกใหม่ ต่างจากที่มีในท้องตลาด
ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ รวมถึงพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสู่ระดับสากล (NEXT – To Global) ตลอดจนเกิดการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจ ก่อให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังเป็นการก้าวข้าม Comfort Zone กับการทุ่มเทเพื่อยกระดับงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยและเดินไปสู่เส้นทางสากลได้อย่างมั่นคง อันจะเกิดความได้เปรียบในการแข่งขันได้ในยุคชีวิตวิถีใหม่ (Now Normal) และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาท นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย