กระทรวง อว. โดย GISTDA จับมือ NASA และหน่วยงานพันธมิตร เปิดประสบการณ์และประโยชน์ที่ได้จาก ASIA-AQ ในไทย หลังเสร็จสิ้นภารกิจการบินสำรวจฯ

26 มีนาคม 2567 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดสัมมนา “มุมมองการศึกษาคุณภาพอากาศและการจัดการมลพิษทางอากาศในไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ” พร้อมแชร์ประสบการณ์หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการบินสำรวจคุณภาพอากาศในประเทศไทย รวมถึงประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาปัญหาคุณภาพอากาศโดยใช้เครื่องบิน สถานีภาคพื้นดิน และดาวเทียมสำรวจร่วมกับทาง NASA ระหว่างวันที่ 16 – 25 มีนาคม 2567 ซึ่งภายในงานมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ผลเบื้องต้นจากการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศไทยด้วยเครื่องบินสำรวจและดาวเทียม” โดย นายเจมส์ ครอฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านเคมีบรรยากาศของ NASA งานนี้มีนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ของไทย อาทิ GISTDA NARIT กรมควบคุมมลพิษ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยงานด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 50 คน โดยมีนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวเปิดงาน ณ ห้องพระอินทร์ ชั้น 2 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ขึ้นกล่าวในระหว่างการเปิดงานว่า รัฐบาลตระหนักถึงความท้าทายในการแก้ไขปัญหานี้ โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้การแก้ไขปัญหา PM 2.5 มีความแม่นยำเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินของกรมควบคุมมลพิษ เครือข่ายนักวิจัย และส่วนท้องถิ่นที่ร่วมมือกันในการป้องกันมลพิษทางอากาศ และมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นจากนอกโลก ซึ่งทำให้สามารถประมาณการฝุ่นในพื้นที่ที่ห่างไกลจากอุปกรณ์ตรวจวัดภาคพื้นดินได้ และครอบคลุมพื้นที่ในบริเวณกว้าง เพื่อประเมินและคาดการณ์แนวโน้มความรุนแรง รวมถึงทิศทางของฝุ่นในระดับจังหวัดหรือภูมิภาค แต่การตรวจวัดจากอวกาศและการตรวจวัดบนพื้นผิวโลกยังไม่เพียงพอ ข้อมูลในระดับชั้นบรรยากาศที่มีพลวัตสูงด้วยลมและไอน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจในสถานการณ์และพัฒนาการของมลพิษทางอากาศ และ “ปีนี้โชคดีที่ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. ได้ถูกเสนอขึ้นมา ถือเป็นการยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและการควบคุมมลพิษอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการกำหนดกลไกการบริหารจัดการทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและเป็นการส่งเสริมให้เกิดระบบการวางแผนและการดำเนินงานเพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดได้”

การที่องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ร่วมมือกับ GISTDA และหน่วยงานทุกภาคส่วน ภายใต้ ASIA-AQ นำเครื่องบินที่ติดตั้งด้วยอุปกรณ์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางอากาศมาดำเนินการตรวจวัดคุณลักษณะของอากาศเหนือพื้นที่ประเทศไทยอันมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นครั้งแรก ถือเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูลมีประโยชน์อย่างมาก และจะมีการเปิดเผยสู่สาธารณะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิจัยนำไปใช้พัฒนาแบบจำลองด้านมลพิษทางอากาศของไทยสู่การกำหนดแผนการจัดการมลพิษที่ต้นตออย่างแท้จริง รวมถึงมาตรการในการแจ้งเตือนการเกิดฝุ่นล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวก่อนเริ่มการสัมมนาว่า การศึกษาคุณภาพอากาศและมลพิษทางอากาศร่วมกับ NASA ในครั้งนี้เพื่อหาข้อมูลต้นทางที่ค้นพบเพื่อทำการประเมินถึงแหล่งกำเนิดจากประเภทต่างๆและเตรียมนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาและร่วมกันแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ขณะนี้มีหน่วยงานมากมายทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเตรียมนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ตามภารกิจขององค์กรของตนเอง การติดตามเรื่องค่าคุณภาพอากาศ ข้อมูลจากดาวเทียมถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ความหนาแน่น ปริมาณ และประเมินล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี เมื่อเราใช้เครื่องบินมาเป็นเครื่องมือในการสำรวจร่วมด้วย ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เสมือนเป็นการเชื่อมต่อและผสานข้อมูลระหว่างอวกาศ ท้องฟ้า และพื้นดิน แล้วเมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น ทำให้รู้ถึงต้นตอของปัญหาฝุ่นว่ามาจากสาเหตุใด ซึ่งจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและถูกต้อง โดยข้อมูลต่างๆเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก และทาง NASA ยินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในงานวิจัยทั้งหมดให้กับกระทรวง อว. โดยจะบูรณาการข้อมูลที่มีทั้งหมด รวมทั้งข้อมูลจากดาวเทียมกับข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจจริง เพื่อช่วยให้เกิดทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

ด้าน นายเจมส์ ครอฟอร์ด นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านเคมีบรรยากาศของ NASA ได้กล่าวในการบรรยายพิเศษว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการบินสำรวจอากาศในประเทศไทยได้มาค่อนข้างครบถ้วน โดยจากการบินสำรวจคุณภาพอากาศด้วยเครื่องบินลำใหญ่ DC-8 ที่บินสำรวจและเก็บข้อมูลสภาพอากาศตั้งแต่กรุงเทพมหานครไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นปริมาณควันที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือสูงมากกว่าในบริเวณอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนระหว่างค่ามีเทนกับค่าคาร์บอน ซึ่งสามารถแยกได้ว่าควันหรืออากาศที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรและมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นอย่างไร ซึ่งจากการบินสำรวจเบื้องต้นอาจเป็นไปได้ว่าเกิดการเผาในพื้นที่โล่งมากกว่า ในขณะที่ข้อมูลที่ได้จากเครื่องบิน G-3 ที่บินอยู่เหนือน่านฟ้ากรุงเทพฯ ทำให้สามารถมองเห็นข้อมูลรอบกรุงเทพฯได้อย่างชัดเจน แต่ละที่ก็จะมีเคมีองค์ประกอบที่ต่างกันและมีปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดมลพิษในบรรยากาศ ซึ่งเราต้องเข้าใจองค์ประกอบสารที่อยู่ในอากาศ เช่น โอโซน , ฟอร์มาลดีไฮด์ , มีเทน , ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเหล่านี้จะนำไปใช้ในการสร้างโมเดลเพื่อพยากรณ์และคาดการณ์การลดปริมาณมลพิษในอากาศต่อไป

นายเจมส์ ครอฟอร์ด ยังกล่าวเพิ่มในตอนท้ายอีกว่า ข้อมูลที่ได้จากการบินสำรวจยังไม่สำคัญเท่ากับว่าเราจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษยชาติได้อย่างไรมากกว่า ทั้งนี้ ในระหว่างที่เราทำการบินสำรวจ เราได้เจอสภาพอากาศทั้งช่วงที่มีฝุ่นมากที่สุดและช่วงหลังจากฝนตก ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของการตรวจวัดในสภาวะอากาศที่มีความแตกต่างกัน ทำให้มีข้อมูลหลากหลายที่สามารถนำไปสร้างเป็นแบบจำลองเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอีกด้วย

ทั้งนี้ ช่วงการสัมมนาเกี่ยวกับประโยชน์จากการศึกษาปัญหาคุณภาพอากาศในประเทศไทยโดยใช้เครื่องบิน สถานีภาคพื้นดิน และดาวเทียมสำรวจร่วมกับทาง NASA มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ดร.นริศรา ทองบุญชู อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสระ มะศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, Dr. Ronald Macatangay Senior Scientific Researcher, Atmospheric Research Unit, NARIT, นายกรทอง วิริยะเศวตกุล คอลัมนิสต์วิทยาศาสตร์ THE STANDARD, Louisa Emmons senior scientist NCAR และ ดร.นันทิกร กิจรัตน์ภร นักภูมิสารสนเทศจาก GISTDA ที่มีการพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ แนวทางการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาเรื่องคุณภาพอากาศของประเทศไทยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของไทย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอแนวทางที่อยู่ในรูปแบบโครงการที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปวิจัยและพัฒนาต่อยอดทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพื่อยกระดับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา และการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงข้อมูลที่น่าสนใจที่ได้จากการบินสำรวจ และความแตกต่างของข้อมูลจากหลายๆ ประเทศ ซึ่งในทวีปเอเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก มีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว แต่โอกาสเหล่านั้นในบางครั้งก็มาพร้อมกับมลภาวะต่างๆ ซึ่งข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่ได้จากการบินสำรวจในฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และประเทศไทย คือการเปลี่ยนแปลงของฝุ่นละอองในแต่ละวัน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง การจราจร และระบบอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับในประเทศไทยมีการเผาไหม้ค่อนข้างสูง ส่วนในฟิลิปปินส์มีการพบเจอไฟป่าบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศมาก เกาหลีใต้ฝุ่นละอองขึ้นอยู่กับสภาพอากาศบางครั้งอากาศค่อนข้างสะอาด นอกจากข้อมูลที่ได้รับจากการบินสำรวจและจะมีการพัฒนาให้เป็นแบบจำลองแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือการส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักและให้ความสนใจกับเรื่องคุณภาพอากาศเพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของประเทศไทยในการนำข้อมูลที่ได้มาทำการศึกษาและวิเคราะห์ โดย GISTDA ในฐานะหน่วยงานกลางพร้อมจะประสานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันใช้ข้อมูลอันจะนำไปสู่การพัฒนา ต่อยอดที่หลากหลาย เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศร่วมกันต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.