“ศุภมาส” ร่วมฉลองวันมาตรวิทยาโลกและ 26 ปี “สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ” ภายใต้หัวข้อหลัก “เราวัดวันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” ลั่น! พร้อมผลักดันระบบมาตรวิทยาแห่งชาติให้แข็งแกร่ง มุ่งให้การวัดของไทยเป็นที่น่าเชื่อถือในระดับสากล

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2567 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการเนื่องในวันมาตรวิทยาโลกและในโอกาสครบรอบ 26 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อแนวคิด “เราวัดวันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” โดยมี พลตำรวจโท พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวรายงาน และมี ดร.ฮยอนมิน ปาร์ค ประธานองค์กรมาตรวิทยาระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (APMP Chair) และ ดร.ฮองเต๋า ฮวัง ผู้เชี่ยวชาญสถาบันมาตรวิทยา แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (NM, China) รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในประเทศหลากหลายสาขา เข้าร่วม ณ ห้องแซฟไฟร์ 204-206 ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม อิมแพคเมืองทองธานี

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับประชาคมมาตรวิทยาและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในวาระครบรอบ 149 ปี ของการก่อตั้งอนุสัญญาเมตริก และ 26 ปี ของการก่อตั้งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดย “วันมาตรวิทยาโลก” ได้รับการกำหนดขึ้น เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาเมตริก หรือ Metre Convention ซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1875 ทำให้อนุสัญญาเมตริกมีอายุครบ 149 ปี ในวันนี้ อนุสัญญาเมตริก คือที่มาของระบบหน่วยเมตริก หรือที่ต่อมารู้จักกันในชื่อระบบหน่วยระหว่างประเทศ หรือ เอสไอ (SI) และโครงสร้างเชิงองค์กรในการกำกับระบบมาตรวิทยาระหว่างประเทศ ซึ่งอนุสัญญาเมตริกยังคงเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ที่สร้างหลักประกันให้แก่กิจกรรมต่าง ๆ ของโลกปัจจุบันและโลกอนาคตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้ว่าโจทย์หลักของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอาจจะต่างกัน ตนทราบมาว่าหัวข้อหลักของการฉลองวันมาตรวิทยาโลกจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี ซึ่งจะสะท้อนความท้าทายที่โลกเผชิญอยู่ โดยหัวข้อหลักของปีนี้คือ “เราวัดวันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน” จึงน่าจะหมายความว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ประชาคมมาตรวิทยาต้องกำหนดบทบาทของตนเองในการสร้าง “อนาคตที่ยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นให้จงได้

น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า ตนคิดว่ามีเงื่อนไขอย่างน้อยสองข้อถ้าความยั่งยืนนี้จะเกิดขึ้นได้ โดยข้อแรก มาตรวิทยาต้องมองไปข้างหน้าให้ได้ไกลกว่าวันพรุ่งนี้ เพราะสิ่งที่มาตรวิทยาทำวันนี้ จะส่งผลกระทบต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า นั่นคือมาตรวิทยาต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และข้อสองคือ สิ่งที่มาตรวิทยาทำต้องเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ ดังนั้นมาตรวิทยาต้องเข้าใจสิ่งที่ภาคส่วนอื่นทำ แต่ไม่ต้องไปช่วยเขาทำ สิ่งที่มาตรวิทยาต้องทำคือสร้างการวัดที่จะไปรองรับการพัฒนานั้น ๆ ให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และในฐานะประธานกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ ตนมีหน้าที่พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติให้เข้มแข็งและมีสมรรถนะสูงขึ้น เพื่อทำให้การวัดในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ

“ตนขอสัญญาว่าสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศไทยและพันธมิตรจะส่งมอบการวัดที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ในอนาคต ในทุกบทบาทและทุกเส้นทางที่ประเทศไทยจะเลือกเดินไป เพราะพรุ่งนี้ของมาตรวิทยาคืออนาคตที่รอเราอยู่ข้างหน้า” น.ส.ศุภมาส กล่าว

พล.ต.ท.พรชัย กล่าวว่า งานสัมมนาวิชาการในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของมาตรวิทยา และบทบาทของสถาบัน ในฐานะหนึ่งในเสาหลักของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของเครือข่าย NQI ที่สำคัญของประเทศให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นระบบ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อาหาร สมุนไพรเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบราง

ในการนี้ ช่วงบ่ายยังได้มีการประชุมและเสวนากลุ่มย่อยระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) เพื่อสร้างความเข้าใจ และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยแบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อย ดังนี้ 1.) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ด้านเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) 2.)Q Cold-Chain และมาตรวิทยาอุณหภูมิในประเทศไทย 3.) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมสมุนไพร 4.) การพัฒนา Digital Product สู่โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศแบบดิจิทัล 5.) โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพเพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published.