องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้จัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก
21/05/2024 กรุงเทพฯ – การประชุมระดับสูงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสในภาคเศรษฐกิจชีวภาพและกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของภูมิภาคไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร-อาหาร การประชุมรูปแบบไฮบริดนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค. 2567 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
งานประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสมากกว่า 160 รายจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม การอภิปรายมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพในภาคอาหารและเกษตรกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลักดันกิจกรรมและความคิดริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง
ในระหว่างการประชุมในวันแรก ที่ประชุมได้รับฟังและอภิปรายถึงบทบาทวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ถือเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพและยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือและแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลก โดย โรเบิร์ต ซิมป์สัน Regional Programme Leader ผู้แทนจาก FAO กล่าวในช่วงพิธีเปิดงานว่า “เราจำเป็นต้องสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มและกระจายรายได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร เส้นทางของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพต่อจากนี้ควรรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวมวลที่มีอยู่ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ และเพิ่มการผลิตชีวมวลอย่างยั่งยืน”
ดร. กาญจนา วานิชกร Director of Sectoral Development สำนักเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่าเศรษฐกิจชีวภาพมีศักยภาพที่จะปฏิวัติระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ดร.กาญจนายังได้ร่วมแชร์เกี่ยวกับนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพของอาเซียน เช่น ยุทธศาสตร์ความเป็นกลางคาร์บอนของอาเซียน กรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน กรอบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ของอาเซียน และแผนปฏิบัติการเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนในอาเซียน
ด้าน ดร. จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ด้าน ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่าการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปยกระดับผลิตภาพของผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่อยู่ที่ฐานของปิรามิด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็งรวมถึงการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ Illias Animon ผู้แทนจาก FAO ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านเศรษฐกิจชีวภาพสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพันธมิตรด้านเศรษฐกิจชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย FAO เป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวในสหประชาชาติที่ยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพให้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ (strategic priority)
กิจกรรมการประชุมระดับสูงนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกในชุดกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และอภิปรายเกี่ยวกับการก้าวไปข้างหน้าด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อขยายขนาด (up-scale) เศรษฐกิจชีวภาพในภูมิภาค ซึ่งชุดกิจกรรมนี้รวมถึงการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจชีวภาพระดับภูมิภาคในปี 2568 ที่ FAO อยู่ในระหว่างการหารือกับพันธมิตรในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง