สกสว. จับมือหน่วยงานวิจัยด้านสาธารณสุข ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือ ตอบสนองภาวะวิกฤตโควิด-19

วันนี้ (9 สิงหาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุม “COVID-19 Research Consortium” ครั้งที่ 1 โดยร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) และหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันประชุมหารือถึงกรอบแนวทางความร่วมมือในการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกรอบความร่วมมือ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) การประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 2) การวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสโควิด-19 3) การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยการประชุมในวันนี้เป็นการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนงานจากภาคนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือในการตอบสนองภาวะวิกฤตโควิด-19

ศ.นพ.สุทธิพร  จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และ กสว. ได้มอบหมายให้ วช. เป็นจุดศูนย์รวม (Focal Point) ในด้านการวิจัยเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยรับโจทย์จากภาคนโยบาย

นอกจากนี้ยังได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ไปยังหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตรรม (PMUs) สนับสนุนทุนวิจัยให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมครอบคลุมการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทางภาคนโยบายมีฐานข้อมูลงานวิจัยทั้งหมดซึ่งทำให้เกิดการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นในปีงบประมาณที่ผ่านมาจากการจัดสรรงบประมาณก่อให้เกิดการพัฒนาหน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์  นอกจากนี้ยังมีการพัฒนางานวิจัยอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม กสว. ได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของกองทุนส่งเสริม ววน. ซึ่งมีความยืดหยุ่นสามารถจัดสรรงบประมาณตอบสนองภาวะวิกฤตได้อย่างทันท่วงที

ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี  โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ สกสว. ได้เสนอต่อ กสว. ขออนุมัติแผนด้าน ววน. เพิ่มเติมในส่วนของโปรแกรมที่ 17 “การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ” โดยมีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ (Objectives and Key Results: OKRs) คือ 1) ประเทศไทยมีความสามารถในการจัดการและฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อการเกิดภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ  2) ประเทศไทยมีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านความรู้ กำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. เพื่อสนับสนุนการจัดการภาวะวิกฤตเร่งด่วนและการฟื้นตัวหลังภาวะวิกฤต โดยที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณ 2 ส่วนประกอบด้วยการจัดทุนสนับสนุนงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Fund) ไปยังหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม และทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) ไปยังสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถปรับแผนงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2565 จะเน้นย้ำการเชื่อมโยงระหว่างอุปสงค์และอุปทานเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (consortium) ในการขับเคลื่อนงาน อย่างเช่นการประชุมในวันนี้ เป็นการเชื่อมโยงโจทย์ระดับภาคนโยบายสู่ภาคปฏิบัติเพื่อร่วมกันมองทิศทางการใช้ ววน. เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19

Leave a Reply

Your email address will not be published.