“ไบโออิเล็คทริคกลู” นวัตกรรมใหม่จาก สทน. กวาด 3 รางวัลใหญ่จากเวทีประกวดที่โปแลนด์

นวัตกรรมใหม่จาก สทน. นำไคโตซานมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีรังสี เป็น “ไบโออิเล็คทริคกลู” กาวนำไฟฟ้าผลิตที่ผลิตจากพอลลิเมอร์ธรรมชาติ ใช้ทดแทนกาวนำไฟฟ้าในท้องตลาดอย่างอีพ็อกซีเรซิน (Epoxy resin) คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวที่ประกวดนานาชาติ The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG 2024) ณ เมืองคาโตไวซ์ ประเทศโปแลนด์

ดร. หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีผลงานการวิจัยจากทีมนักวิจัยของ สทน. ส่งผลงานเข้าประกวดในงาน The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG 2024) ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค. 2567 ณ เมือง คาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ ผลปรากฏว่าผลงานวิจัยของ สทน.คว้ารางวัลสำคัญมาได้ถึง 3 ผลงาน รวม 8 รางวัล โดยหนึ่งในผลงานดังกล่าว คือ “ไบโออิเล็คทริคกลู” (BioElectriGlue) เป็นกาวนำไฟฟ้าที่ผลิตจาก พอลลิเมอร์ธรรมชาติ คือไคโตซาน นำมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีรังสี เป็นกาวนำไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นงานนวัตกรรมที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของ สทน. มี นางสาวฐิติรัตน์ รัตนวงษ์วิบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ นักวิจัยร่วมโครงการประกอบด้วย นายธนรรจน์ แสงจันทร์ นายพงศธร คำคูณ นายทศวรรษ อุดิลา นายรพพน พิชา นายศักดิ์ชัย หลักสี นางสาวภัทรา เลิศศราวุธ นางสาวธนกร แสงทวีสิน และนางสาวเกศินี เหมวิเชียร จากความโดดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดถึง 3 รางวัล คือ 1. รางวัลพิเศษ NRCT Special Award Competition ซึ่งเป็น 10 ผลงานเด่นของไทย พร้อมถ้วยรางวัล จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นผู้มอบรางวัล 2. รางวัลพิเศษ IFRI Special Award for The Best Invention จากองค์กร The 1st Institute Inventors and Researchers in I.R. Iran (FIRI) ประเทศอิหร่าน พร้อมโล่ห์รางวัล 3. รางวัลเหรียญเงิน Silver Medal Award จากงาน INTARG2024

นางสาวฐิติรัตน์ รัตนวงษ์วิบูลย์ หัวหน้าโครงการวิจัย “ไบโออิเล็คทริคกลู” สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ไบโออิเล็คทริคกลู เป็นกาวนำไฟฟ้า ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทดแทนกาวหรือตัวประสานแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ความร้อนในการเชื่อมประสานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม เป็นนวัตกรรมกาวนำไฟฟ้าที่ผลิตจากพอลลิเมอร์ธรรมชาติ โดยเลือกใช้ไคโตซาน วัสดุธรรมชาติที่สามารถสกัดได้จากเปลือกของสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลของประเทศไทย นำมาพัฒนาพัฒนาให้เป็นกาวนำไฟฟ้า “ไบโออิเล็คทริคกลู” (BioElectriGlue) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีรังสีที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติเด่น 5 ประการ คือ ไม่เป็นพิษ (Non-toxicity): ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally friendly) ค่านำไฟฟ้าสูง (High electrical conductivity): มากกว่า 150 ไมโครซีเมนต์ต่อเซนติเมตร มีสมบัติเชิงกลที่ดี (Good mechanical strength): ทนต่อแรงกดทับได้มากกว่า 20 นิวตัน ยึดติดกับพื้นผิววัสดุได้ดี (Good adhesiveness): สามารถติดกับแผ่นทองแดง แผ่นสเตนเลส พลาสติก แก้ว และยาง เป็นต้น สามารถควบคุมความหนืดได้ (Controllable viscosity) จึงสะดวกต่อการใช้งาน จากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า “BioElectriGlue” เป็นกาวนำไฟฟ้าที่มีศักยภาพ สามารถทดแทนกาวนำไฟฟ้าที่มีในท้องตลาดอย่างอีพ็อกซีเรซิน (Epoxy resin) ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.