CRDF Global ร่วมกับ IJC-FOODSEC โดย สวทช. มธ. และ QUB จัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก
วันที่ 9 – 11 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ – องค์กร Civilian Research and Development Foundation Global (CRDF Global) หน่วยงานภายใต้กำกับของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security: IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast (QUB) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก (Regional Workshop on Food Safety and Agricultural Productivity in Southeast Asia and the Pacific) การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองในชุดการประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง โดยมุ่งเน้นที่ความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping areas) ระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กิจกรรมหลัก ได้แก่ การอภิปรายที่เกี่ยวกับ Sustained Dialogue on Peaceful Uses (SDPU) Initiative หรือกรอบการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างสันติ ว่าจะสามารถช่วยส่งเสริมโครงการที่ดำเนินอยู่และโครงการใหม่ในการเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีการฉายรังสีและนวัตกรรมนิวเคลียร์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างไร โดยมีผู้แทนหน่วยงานจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และไทย ประกอบด้วย นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. รศ.ดร.วุฒิพล สินธุนาวารัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Dr. Meera Chandra, Agricultural Attaché, U.S. Department of Agriculture at the U.S. Embassy Bangkok และ Ms. Holly Haines, Head of IAEA Policy & Peaceful Uses, UK Department for Energy Security and Net Zero ร่วมกล่าวเปิดงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก 21 ประเทศ 75 องค์กร รวมกว่า 150 คน
ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวตอนหนึ่งในช่วงเปิดประชุมว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีศักยภาพที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมได้รับผลประโยชน์จากการบูรณาการเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ากับระบบการผลิตอาหารโดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์โดยการกลายพันธุ์ (Mutation breeding) สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อโรคและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มั่นใจได้ถึงผลผลิตด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคนิคการจัดการดินและน้ำที่เหมาะสมผ่านการใช้วิธีการทางนิวเคลียร์ เกษตรกรไทยสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อนุรักษ์น้ำ และเพิ่มผลผลิตพืชผล
เนื่องจากการวิจัยด้านความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไบโอเทค สวทช. จึงได้มีส่วนร่วมจัดตั้งหน่วยงานระดับนานาชาติขึ้นคือ ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ด้วยเชื่อว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรของประเทศไทย สร้างความยั่งยืน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมาก
ทั้งนี้ IJC-FOODSEC มีส่วนร่วมสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการจัดทำโปรแกรมการประชุมเชิงปฏิบัติการรวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้การบรรยายและอภิปราย หัวข้อการประชุมครอบคลุมเรื่องการปลอมแปลงอาหาร การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ การยืดอายุผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน และการออกแบบโครงการอย่างยั่งยืน เป็นต้น
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีการนำเสนอหัวข้อการบรรยายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรใน 6 ประเด็น ได้แก่ ช่วงที่ 1: ความท้าทายด้านอาหารและชุดเครื่องมือนิวเคลียร์ (Food Challenges and the Nuclear Toolkit) ช่วงที่ 2: เรื่องการทำงานและความสำเร็จที่กำลังดำเนินอยู่ (Ongoing Work and Success Stories) ช่วงที่ 3: เครื่องมือสู่ความสำเร็จ-การใช้งานนิวเคลียร์ในภาคเกษตรกรรม (Tools for Success – Nuclear Applications in Agriculture) ช่วงที่ 4: แนวคิดโครงการโดยวิธีระดมสมองรูปแบบ World Cafe World Cafe – แนวทางในการออกแบบโครงการใหม่ (Project Ideation with a World Cafe – An Approach to Identifying New Projects) ช่วงที่ 5: เส้นทางสู่การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ (Pathways for Support) และช่วงที่ 6: การขับเคลื่อนโครงการและขั้นตอนถัดไป (Mobilizing Projects, Next Steps, and Closing)
การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกและ Sustained Dialogue on Peaceful Uses (SDPU) Initiative ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา และกรมความมั่นคงทางพลังงานและเน็ตซีโร่ สหราชอาณาจักร (UK Department for Energy Security and Net Zero (DENSZ)) โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.sustaineddialogue.com