GISTDA หวังต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจเด็กไทย..!! จากโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยปี 3
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมจัดกิจกรรมทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปี3 “Mission 7 to US Space & Rocket Center and NASA” หรือ “เป้าหมาย 7 ประการของการมุ่งหน้าลัดฟ้าสู่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐและนาซ่า” พร้อมออกเดินทางกลางเดือนเมษายนนี้ หวังจุดประกายเด็กไทยเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาศักยภาพด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) นั้น
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยในครั้งนี้ คือหลักสูตร “การสำรวจอวกาศเบื้องต้น” ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมจะต้องใช้ความสามารถด้าน STEM อย่างเต็มที่ทั้งในทางทฤษฎีและฝึกปฏิบัติในภารกิจต่างๆ เช่น การเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ การซ่อมแซมระบบวิศวกรรมของสถานีอวกาศนานาชาติ การทดลองเขียน Coding เพื่อนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในระดับชั้นบรรยากาศต่างๆ การทำงานในสภาวะไร้น้ำหนักร่วมกับทีมงาน การควบคุมภารกิจอวกาศของศูนย์อวกาศภาคพื้นดิน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะต้องใช้ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแก้ปัญหาทางวิศวกรรม การคำนวณ การทำงานเป็นทีม และจะต้องมีความเป็นผู้นำอีกด้วย
โครงการ ทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปี 3 ในครั้งนี้ GISTDA ร่วมกับ U.S. Space & Rocket Center (USSRC) ประจำประเทศไทย บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยร่วมกันให้ทุนและดำเนินการคัดเลือกเยาวชนเพื่อชิงทุนดังกล่าว เพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายด้านอวกาศในระดับสากล ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารประชาชนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ณ เมือง Huntsville รัฐ Alabama สหรัฐอเมริกา โดยเยาวชนผู้รับทุนฯ มีกำหนดการเดินทางช่วงระหว่างวันที่ 21 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งมีผู้ร่วมเดินทางดังนี้ 1) นางสาวชนิศา พร้อมพัฒนภักดี จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ , 2) นายเรืออากาศจิรภัทร คำนิล จากโรงเรียนนายเรืออากาศ , 3) นายถิรวัฒน์ บุญสร้าง จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ , 4) นายกันตพิสิฐ ลิ้มศุภพุฒิกุล จากโรงเรียนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และศิลปินนักร้องที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์อวกาศ ประกอบด้วย เฌอปราง และมายยู จากวง BNK 48 รวมทั้งหมด 6 คน จะออกเดินทางไปพร้อมกันกลางเดือนเมษายนนี้
ดร.ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เยาวชนที่ได้รับทุนในครั้งนี้เป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากการทดสอบความถนัดด้านอวกาศ (SCAT) จากเครือข่ายศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของ GISTDA 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ ศูนย์ภูมิภาคฯประจำภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ศูนย์ภูมิภาคฯประจำภาคตะวันเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ภูมิภาคฯประจำภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกและสนับสนุนสถานที่สอบดังกล่าว จากทั้งสิ้น 1,550 คน คัดเลือกเหลือเพียง 24 คน เพื่อเข้าร่วม STEM Camp หลังจากนั้นเยาวชนทั้งหมดจะได้รับการให้ความรู้และฝึกฝนทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติอย่างเข้มข้นอีกครั้งเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 4 คนสุดท้าย โดยพิจารณาจากความสามารถการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ร้อยละ 30 , คะแนนจากคณะกรรมการทุนการศึกษาค้นพบนักบินฯ คิดเป็นร้อยละ 30 และคะแนนโหวตจากเพื่อนร่วมค่ายฯ คิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งหลังจากร่วมปฏิบัติภารกิจกับทางนาซ่าแล้ว เยาวชนทั้ง 4 คนจะต้องกลับมาถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อกระตุ้นการจุดประกายให้เยาวชนไทยเกิดความสนใจ เกิดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา และเป็น Brand Ambassador เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ด้านอวกาศเพื่อต่อยอดกิจกรรมสร้างความตระหนักในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไป