เอ็นไอเอ ผนึก 11 พันธมิตร ดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทยเสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้ายกระดับการปลูกข้าว
กรุงเทพฯ 25 พฤศจิกายน 2567 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผนึกกำลัง 11 เครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทยสู่กลุ่มเกษตรกร ภายใต้โครงการ AgTech Connext ที่พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการพลิกโฉมภาคเกษตรอย่างยั่งยืน โดยได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย เพื่อสานต่อที่ได้ทำงานมาแล้วให้เกิดความต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายใหม่เพิ่มเติม รวมทั้งกิจกรรมนำเสนอผลการใช้งานของ 10 สตาร์ทอัพสายเกษตรและเกษตรกรที่จับคู่ทดสอบการใช้งานจริง ในโครงการ AgTech Connext 2024 ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพื้นที่ทดสอบและต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทย
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า NIA เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ โดยมีสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและสร้างให้เกิดการเติบโต ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนด้านการเกษตรของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา NIA ได้สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยง ประสานงาน และขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การระบุแนวโน้มนวัตกรรมการเกษตร โดยศึกษาแนวโน้มนวัตกรรมพลิกโฉมธุรกิจการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทการเกษตรของไทย 2. การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ผ่านกิจกรรมบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ 3. การสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตร เพื่อสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นสำหรับพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และเชื่อมโยงไปสู่การขยายตลาด ระดมทุนกับนักลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ หรือออกสู่ตลาดต่างประเทศ“NIA ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” มุ่งพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรและระบบนิเวศที่เหมาะสม โดยได้ริเริ่ม “โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน” หรือ “AgTech Connext” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างสะพานเชื่อมให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้านพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตร และกลุ่มเกษตรกรเกิดการจับคู่ทดสอบการใช้งานจริงร่วมกัน ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพื้นที่ทดสอบและต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทย ตลอดจนสร้างเป็น “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือโครงการ AgTech Connext” จำนวน 11 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานพัฒนาและสนับสนุนสตาร์ทอัพ ได้แก่ 1. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 2. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานเชื่อมโยงเกษตรกรภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 3. กรมส่งเสริมการเกษตร 4. กรมการข้าว 5. กรมประมง 6. กรมปศุสัตว์ 7. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 8. สภาเกษตรกรแห่งชาติ หน่วยงานสนับสนุนด้านเงินทุน ได้แก่ 9. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 10. บริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 11. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมนำเสนอผลงานโครงการ AgTech Connext 2024 มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก 10 ราย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาทั้งกลุ่มปศุสัตว์ ประมง และพืช ด้วยหลากหลายทางเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพให้สตาร์ทอัพได้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและแนะนำ เพื่อวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น โดยสตาร์ทอัพแต่ละรายได้มีการทดสอบการใช้งานอย่างน้อย 5 กลุ่มเกษตรกร ดังนี้
• กลุ่มปศุสัตว์ ที่เกี่ยวข้องกับโคนม ได้แก่ 1. เวทโนว่า ฟิล์มจุ่มเคลือบเต้านมโคนมจากธรรมชาติ เพื่อลดการอักเสบติดเชื้อและเพิ่มความชุ่มชื้น ราคาเทียบเท่ากับสารเคมีที่ใช้ในปัจจุบันและมีคุณภาพหลังการใช้งานถูกใจเกษตรกรชาวโคนม และในส่วนของผู้เลี้ยงไก่ที่ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพไข่ก่อนการเข้าฟัก เพื่อลดการสูญเสียเวลาและต้องใช้ความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะของคนงาน 2. มิสเตอร์เอ้ก ระบบตรวจสอบคุณภาพไข่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ พร้อมตอบปัญหานี้ โดยออกแบบมาทั้งระบบเช่าเครื่องและเป็นสมาชิกรายเดือน
• กลุ่มประมง ในกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องจดบันทึกและการควบคุมคุณภาพต่างๆ ในบ่อเลี้ยง 3. อเดคนิค แพลตฟอร์มบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งและปลา ด้วยระบบ IoT แจ้งเตือนภาวะวิกฤตป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ และ 4. ยูนิฟาร์ส สารเสริมชีวภาพที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อวิบริโอในการเพาะเลี้ยงกุ้งและเชื้อฟราโวแบคทีเรียในการเพาะเลี้ยงปลา ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี
• กลุ่มการปลูกพืช ดินจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเพาะปลูกพืช 5. ไบโอม จุลินทรีย์คึกคักล้างสารพิษตกค้างในดินและเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดสรรมาพิเศษสำหรับการปรับคุณภาพของดินให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการปลูกพืช ในส่วนของโรคพืชที่ต้องใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและไม่ทิ้งสารตกค้าง 6. เพียวพลัส ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช ที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำที่มีประสิทธิภาพแก้ไขโรคในพืชสวน เช่น ทุเรียน ลำไย ยาง ได้ตรงความต้องการ และเมื่อมีสารชีวภัณฑ์ที่ดีต้องใช้ 7. โมรีน่า สารเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับพืชด้วยเทคโนโลยีนำส่งระดับนาโน โดยเริ่มต้นทดลองในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน ซึ่งได้ติดตามผลแก้ปัญหาโรคต่างๆ และสามารถฟื้นฟูต้นพร้อมออกลูกได้
• กลุ่มสนับสนุนการเพาะปลูกพืช ปัญหาเรื่องแมลงเป็นปัญหากวนใจของชาวสวน 8. อินเซ็คโต้ กับดักแมลงโซล่าเซลล์อัตโนมัติ ตัวช่วยเกษตรกรให้ทำงานได้ง่ายขึ้น สำหรับชาวสวนที่มีท้องร่อง ต้องรดน้ำเป็นประจำเช้าเย็น และหาแรงงานยาก 9. ริมโบติกส์ เรือรดน้ำอัตโนมัติไร้คนขับ ออกแบบและพัฒนาจากเกษตรกรที่เป็นวิศวกรจึงเข้าใจปัญหาได้อย่างตรงจุด และสุดท้ายระบบการเปิดปิดน้ำอัตโนมัติและช่วยควบคุมการทำงานที่ต้องติดตั้งยุ่งยาก 10. มีเทค ระบบ IoT Smart Farm ที่สามารถประกอบและติดตั้งด้วยตัวเอง ออกแบบมาให้เกษตรกรทำได้เองอย่างง่ายดาย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรบริหารจัดการฟาร์มได้ดียิ่งขึ้น
“ทั้งนี้ในปี 2568 NIA จะมุ่งเน้นเชื่อมโยงสตาร์ทอัพในการยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวกับกลุ่มเกษตรกร 50 กลุ่ม ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการทำแปลงนาสาธิต อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัลจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เพื่อยกระดับการปลูกข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ด้วยการทำการเกษตรแม่นยำ เพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินที่ดำเนินภารกิจมุ่งเน้นเป็นแกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture) ดูแลพี่น้องเกษตรกรกว่า 4.7 ล้านครัวเรือน และสนับสนุนการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตรของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มุ่งพัฒนาลูกค้าสู่การปรับโครงสร้างการผลิตหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ดังนั้น ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการ AgTech Connext จึงสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจแก่องค์กรและลูกค้าด้วยนวัตกรรม ด้วยการขยายผลนวัตกรรมเกษตรสู่การใช้ประโยชน์ร่วมกับภาคีเครือข่ายภายนอก ในการค้นหาและคัดเลือกนวัตกรรมเกษตรพร้อมใช้ที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อเป็นการสนับสนุนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อจากเกษตรกรผู้สูงอายุให้มีเงินทุน ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถยกระดับไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในภาคการเกษตรได้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเกษตรกรรุ่นใหม่ (New Gen & Young Smart Farmer) กรอบวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพและเกษตรกรรุ่นใหม่หรือหัวขบวนในการต่อยอดขยายการใช้งานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ จะมีการมอบรางวัล The Best Performance AgTech Connext 2024 Award ให้กับสตาร์ทอัพเกษตรที่มีผลงานโดนเด่นในการพลิกโฉมธุรกิจการเกษตร โดยการตัดสินจากผลงานตลอดระยะเวลาโครงการและการนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับเงินรางวัล 20,000 บาท จาก ธ.ก.ส. และรางวัล The Popular AgTech Connext 2024 Award ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน พร้อมรับเงินรางวัล 10,000 บาท จากโครงการ
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017 5555 ต่อ 543 (สิรพัฒน์) มือถือ 091-541 5542 อีเมล sirapat@nia.or.th เว็บไซต์ https://agtechconnext.nia.or.th/ และ https://www.facebook.com/agtechconnext