สอวช. เล็งขยายการให้บริการ STEM OSS กระจายการพัฒนากำลังคนให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค หวังใช้เครือข่ายมหาวิทยาลัย จับคู่ผู้ประกอบการและคนทำงานให้ตรงความต้องการมากขึ้น
ในงาน อว.แฟร์ ที่จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างวันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2567 มีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก โดยงานนี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมจัดบูทนำเสนอแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิต นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะและสมรรถนะในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเชื่อมโยงหลักสูตรและความเชี่ยวชาญจากภาคอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนและการวิจัยพัฒนาที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล
ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า แพลตฟอร์ม STEMPlus เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ช่วยรับรองหลักสูตรและการจ้างงาน โดยผู้ที่มาอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package รวมถึงผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองจ้างงานบุคลากร STEM จะได้รับการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการส่งบุคลากรเข้าอบรมและการจ้างงาน นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประสานงาน STEM OSS (STEM One-Stop Service) ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ต้องการจ้างงาน และคนที่หางาน สามารถเข้ามาฝากประวัติไว้ และเปิดให้ผู้จ้างงานสามารถเข้ามาดูได้ผ่านระบบออนไลน์ ส่วนรูปแบบออฟไลน์ สอวช. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เชื่อมโยงการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน ให้สามารถมาติดต่อและแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน เพื่อให้ศูนย์ประสานงาน STEM OSS จัดบริการจับคู่การจ้างงานให้
ดร.สิริพร ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ความต้องการแรงงานในปัจจุบันที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มีนโยบายที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตามที่ได้ประกาศนโยบายผลักดันการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านจะมีคนมาอบรมและขึ้นทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้นทุกปี แต่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของเราจะกระจายไปถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก โดยการขยายให้มีศูนย์ประสานงาน STEM OSS ในทุกภูมิภาค เพื่อให้สามารถเข้าถึงและยกระดับความสามารถแรงงาน ทำให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรมอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมา สอวช. ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ในการจับคู่การจ้างงาน จึงอยากขยายการดำเนินงานไปทั่วทุกภูมิภาค ให้ผู้ประกอบการได้ใกล้ชิดกับหลายมหาวิทยาลัย เพราะในปัจจุบันผู้ประกอบการมีความต้องการหลักสูตรที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองการทำงานเฉพาะของแต่ละบริษัทด้วย ถ้าได้ทำงานใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยก็จะสามารถผลิตคนที่ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น” ดร.สิริพร กล่าว
สอวช. ยังได้เตรียมความพิเศษไว้ให้สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมบูท STEMPlus ในงาน อว.แฟร์ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรองหลักสูตร และการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM ที่จะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว ทันใจ มีคลินิก STEMPlus คอยให้คำปรึกษาในการเขียนข้อเสนอ การขอรับสิทธิประโยชน์ แนะเคล็ดลับ แบบจับมือทำ นอกจากนี้ นิสิต นักศึกษายังสามารถฝากประวัติ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม Advanced Electronics ได้ และสถานประกอบการสามารถยื่นคำขอ ช่วยหาคนด้าน STEM ผ่านโครงการ Co-creation รูปแบบต่าง ๆ โดยไม่ต้องยื่นคำขอผ่านระบบ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่บูท สอวช. เพื่อนัดหมายเครือข่ายสถาบันการศึกษาได้ตลอดงาน
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอรรถสิทธิ์ attasith@nxpo.or.th และสามารถติดตามรายละเอียดงาน อว.แฟร์ ได้ที่ https://www.mhesifair.com/