งานวิจัย สทน. คว้ารางวัลเหรียญเงิน Silver Medal Award ประเทศโปแลนด์ พัฒนาขุยมะพร้าวเป็นวัสดุเพาะปลูกคุณภาพสูงทดแทนนำเข้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร “ขุยมะพร้าว” ผ่านกระบวนการทางรังสี “เรเดียน – คอโคซอร์ฟ: Radiant-Coircosorp” แฟลตฟอร์มการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์จากขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกพืชคุณภาพสูง ผลงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คว้ารางวัลนานาชาติ เหรียญเงิน Silver Medal Award จาก 17th International Invention and Innovation Contest (INTARG2024) ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์

ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์​ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในหลายแขนง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัยและนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น และในปี 2567 มีงานวิจัยของ สทน. ที่มีความโดดเด่นได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัล ทั้งงานวิจัยทางด้านการแพทย์ งานวิจัยทางอุตสาหกรรม สำหรับงานวิจัยทางด้านเกษตรกรรมที่ได้รับรางวัลในปีนี้คือ
“เรเดียน-คอโคซอร์ฟ : Radiant-Coircosorp” แฟลตฟอร์มการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์จากขุยมะพร้าว พัฒนาเป็นวัสดุเพาะปลูกคุณภาพสูง ได้รับรางวัลเหรียญเงิน Silver Medal Award จากการประกวดในเวที The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG 2024) ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค. 2567 ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล NRCT Honorable Mention Award จาก Nation Research Council of Thailand (NRCT) ในงาน INTARG2024 ผลงานวิจัยนี้มี ดร.ละมัย ใหม่แก้วเป็นหัวหน้าทีมวิจัย นักวิจัยร่วมโครงการ ได้แก่ นางสาวภัทรา เลิศศราวุธ ดร.ธนกร แสงทวีสิน นายวิชัย ภูริปัญญวานิช และนางสาวฉัตรสุดา คงเพ็ง

ดร.ละมัย ใหม่แก้ว หัวหน้าทีมวิจัย “เรเดียน-คอโคซอร์ฟ : Radiant-Coircosorp” เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการคิดค้นกรรมวิธีผลิตวัสดุเพาะปลูกทดแทนพีทมอสที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูก โดยใช้ขุยมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย โดยทั่วไปขุยมะพร้าวที่ยังไม่ผ่านกระบวนการใดๆ ในท้องตลาดจำหน่ายในราคาเฉลี่ยลิตรละ 1 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปร่วมกับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาเป็นวัสดุเพาะปลูกที่มีคุณภาพสูงจะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น มีต้นทุนเฉลี่ยลิตรละ 10 บาท เพื่อทดแทนการนำเข้าพีทมอสจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาขายในประเทศเฉลี่ยลิตรละ 10-17 บาท ขุยมะพร้าวที่นำมาผลิตผ่านกระบวนการนี้ มีคุณสมบัติช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของพืช ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก อีกทั้งในกระบวนการผลิตก็เป็นวิธีที่ลดการใช้ความร้อน ลดการใช้สารเคมี และลดปริมาณของเสียสู่สิ่งแวดล้อม

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยกรรมวิธีดังกล่าวมี 3 ชนิด คือ 1) Radiant-Coir: วัสดุเพาะปลูกปลอดเชื้อรา จุลินทรีย์ และไข่แมลง โดยนำขุยมะพร้าวบดละเอียดมาล้างสารแทนนินออกด้วยน้ำประปา ผึ่งแดดจนแห้งสนิท นำขุยมะพร้าวปลอดแทนนินมาผสมพีทมอส นำไปฉายรังสีจะได้วัสดุเพาะกล้าที่มีคุณภาพสูง มีเชื้อโรคปนเปื้อนน้อยลง เหมาะแก่การนำไปเพาะปลูกกล้าพืช 2) การผลิต Radiant-CoirGel เป็นการผลิตเจลจากขุยมะพร้าว พัฒนาเป็นแผ่นเจลที่มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดีสามารถดูดซับและเก็บกักน้ำได้มากถึง 116 เท่า ของน้ำหนักแห้ง นำไปผสมกับวัสดุเพราะปลูกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ลดการใช้น้ำ และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 3) การผลิต Radiant-Sorp เป็นการผลิตโฟมจากแทนนินที่สกัดจากน้ำล้างขุยมะพร้าว มีคุณสมบัติสามารถดูดซับสารละลายเหล็กจากน้ำได้มากกว่า 90 เปอร์เซนต์ ขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน งานวิจัยนี้ นอกจากจะช่วยในเรื่องการส่งเสริมทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.