“แพลตฟอร์ม AIP” นวัตกรรมข้อมูลจาก “ ธีออส 2 ” ตัวช่วยนโยบายภาครัฐให้สามารถปฏิบัติได้จริง
“ธีออส 2” โครงการนี้…ไม่ได้มีแค่การสร้างดาวเทียม แต่ยังมีการสร้างคุณค่าและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมของไทย
และ “ แพลตฟอร์ม AIP ” ก็เป็นอีกหนึ่งบริการภายใต้ “โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 (THEOS–2)” ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลจากดาวเทียม” เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ผ่านการเชื่อมโยง วิเคราะห์ ประมวลผล จนกลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้ผู้วางแผนนโยบาย สามารถมองเห็นปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง แม่นยำและนำไปปฏิบัติได้จริง
ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า โครงการธีออส 2 เริ่มต้นเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวคิด AIP ของ GISTDA ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดย “AIP” หรือ “ Actionable Intelligence Policy ” จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกิดจากการใช้ข้อมูลเชิงลึก (Intelligence/Insight) มาวิเคราะห์ประเด็นปัญหานั้น ๆ แสดงผลลัพธ์โดยใช้ Dashboard มาประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย(Policy Formulation ) เพื่อให้นโยบายนั้น ๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง(Actionable)
หน้าที่หลักของแพลตฟอร์ม AIP ก็คือ การช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Big Data จากแหล่งต่าง ๆ แทนสมองของมนุษย์ เพื่อให้มองเห็นภาพหรือประเด็นปัญหาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถนำเสนอแนวทางหรือแผนงาน ได้อย่างหลากหลาย ทันสถานการณ์ มีความสมดุล ถูกต้องแม่นยำ และสามารถทดสอบนโยบายนั้น ๆ ได้
ทั้งนี้ AIP จะมีหลักการทำงาน ตาม “ Policy Cycle ” ซึ่งการกำหนดนโยบายจะเริ่มจาก 1.การกำหนดประเด็นปัญหา ซึ่งไม่ได้เริ่มจากการมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการเริ่มจากปัญหาก่อนว่าจะแก้ปัญหาอะไรในพื้นที่ และไปหาข้อมูลมาแก้ปัญหา 2. มีการพัฒนาดัชนีชี้วัด พร้อมกับสร้าง Dashboard เพื่อให้เห็นสถานการณ์ในแต่ละมิติของปัญหาและนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหา 3.สร้างแนวทางการแก้ไขปัญหา( Action Plan) 4.จำลอง Action Plan ตามแต่ละสถานการณ์ (Scenarios)เพื่อประเมินผลลัพธ์ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการทดสอบนโยบายบนระบบก่อนนำไปใช้จริงนี้ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของแพลตฟอร์ม AIP 5. การเลือก Action Plan ที่เหมาะสมที่สุด 6 .นำ Action Plan ที่เลือกไปปฏิบัติจริง และ 7. ติดตามประเมินผล โดยสามารถปรับแผนได้หากไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
การดำเนินการตาม “Policy Cycle” ถือเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์ม AIP และเรียกได้ว่าเป็น “ ตัวช่วยผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายได้แบบครบวงจร ” ตั้งแต่การเห็นปัญหา ใช้ข้อมูลสนับสนุน สร้างโมเดลจำลอง ก่อนที่จะเลือกกำหนดเป็นนโยบาย ทำให้นโยบายภาครัฐสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทำแล้วประสบความสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งหลายๆ ประเทศ ให้ความสนใจ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ที่มี “Policy Map” เป็นเครื่องมือด้านข้อมูลแผนที่ในหลายมิติทั้งด้านรายได้ คุณภาพชีวิต และดัชนีต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็ต้องการที่จะมีเครื่องมือแบบนี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันระบบข้อมูลแผนที่ส่วนใหญ่ ยังเป็นการใช้งานเฉพาะเรื่อง “แพลตฟอร์ม AIP “ จาก GISTDA จึงเป็นแพลตฟอร์มแรก ที่ทำครบทั้งระบบ ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปใช้ในการออกนโยบายได้ภายในระบบเดียว
ดร.ดิชพงษ์ บอกว่า แพลตฟอร์ม AIP มีความสามารถในการประมวลผลจากหลากหลายแหล่งข้อมูล ให้เป็น Smart Information ขณะที่จุดแข็งของ GISTDA ก็คือ การมีข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่สุด คือข้อมูลดาวเทียมต่าง ๆ ทั้งจากดาวเทียมไทยโชติและธีออส 2 หรือจากดาวเทียมดวงอื่น ๆ ที่ GISTDA รับสัญญานมา รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ จากหน่วยงานพันธมิตร เช่น เซ็นเซอร์ หรือ เรดาร์ชายฝั่ง
ปัจจุบัน GISTDA นำแพลตฟอร์ม AIP ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีการนำไปใช้ในการศึกษาและเห็นปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำในอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุเช่น การพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการทำการเกษตรกรรมในพื้นที่ มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างตัวเลือกด้านนโยบาย เช่น การพัฒนาอ่างเก็บน้ำหรือสร้างท่อส่งน้ำ และได้มีการทดสอบนโยบายนั้น ๆ เพื่อดูว่าแผนใดเหมาะสม เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือน
หรือในพื้นที่ต้นแบบที่จังหวัดน่าน ที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้แพลตฟอร์ม AIP เพื่อประเมินความเหมาะสมในการจัดสรรที่ดิน ทั้งในส่วนของที่ทำกิน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีการวิเคราะห์ถึงเรื่องพืชที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศและให้ผลผลิตเพื่อให้ทำการเกษตรได้อย่างเป็นมิตรกับพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงมีการใช้งานกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง
สำหรับอนาคต เป้าหมายสำคัญของแพลตฟอร์ม AIP ดร.ดิชพงษ์ ระบุว่า อยากให้นโยบายของภาครัฐทุก ๆ นโยบายออกมาแล้ว สามารถปฏิบัติได้จริง
“เราอยากจะเป็นเครื่องมือให้กับทุก ๆ หน่วยงานที่จะออกนโยบายในเรื่องต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำ หรืออื่นๆ แม้แต่เรื่องภาพรวมและนโยบายท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ซึ่งนวัตกรรมจากข้อมูลดาวเทียม สามารถนำไปเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง ซึ่งจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น”