*สุดล้ำ… นักเรียนสาธิตเกษตรฯ สัมผัสเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตจากกลุ่มดาวเทียม Starlink ช่วยเรียนทางไกล*

20-22 สิงหาคม 2567 : โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ได้จัดนิทรรศการวันวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 18 ประจำปี 2567 ภายใต้ตีมงาน “Love at First Sciences วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ พัฒนาล้ำสมัย หัวใจแห่งอนาคต” ณ อาคารอุบล เรียงสุวรรณ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์มากมาย ได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในไฮไลต์ของงานภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน): GISTDA ในบูท รักนะ..อวกาศ คือ การสาธิตการรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Starlink) ผ่านดาวเทียมจากบริษัท SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก ภายในงานนักเรียนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการสื่อสารผ่านกลุ่มเครือข่ายดาวเทียมอินเตอร์เน็ต (Internet Satellite Constellation) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ของโลกในการเรียนการสอนทางไกลระหว่าง Space Inspirium อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และโรงเรียนอนุบาลขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ที่ใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตโดยตรงจากดาวเทียม

นอกจากนี้ นักเรียนยังได้สัมผัสกับเทคโนโลยีอวกาศอื่น ๆ เช่น ระบบดาวเทียมนำทาง และระบบดาวเทียมเพื่อภาพถ่ายรายละเอียดสูง เช่น ดาวเทียม THEOS-2 ของ GISTDA ทั้งนี้ GISTDA ยังได้นำผลงานและนวัตกรรมหลายชนิดมานำเสนอในนิทรรศการ เช่น ระบบควบคุมดาวเทียมและการจราจรอวกาศ ชิ้นส่วนจรวดจริงที่ตกลงบนพื้นที่ประเทศที่อาจเป็นภัยคุกคามในอนาคต ข้อมูลและโมเดลจำลองดาวเทียม THEOS-2 ของ GISTDA ที่มีคุณสมบัติถ่ายภาพความละเอียดสูงในระดับแนวหน้าของโลก

อีกทั้งยังมีการจัดแสดงชิ้นส่วนดวงจันทร์ ดาวอังคาร และอุกกาบาตที่อายุมากกว่าโลก ให้นักเรียนได้รับชมและศึกษาประวัติความเป็นมาเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาเกี่ยวกับการกำเนิดโลกและโครงสร้างภายในของโลกอย่างใกล้ชิดอาจารย์ ดร.ผกามาศ นันทจีวรวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงกระบวนการเรียนวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ นิทรรศการวันวิทยาศาสตร์นี้ได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ปกครองและครูฯ และชมรมรักษ์โรงเรียนในการจัดงานครั้งนี้ขึ้น ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถตามศักยภาพและความถนัดของตนเองโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นรากฐานของกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ของนักเรียนในยุคปัจจุบัน สำหรับโรงเรียนให้การสนับสนุนและสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนผ่านการเรียนรู้จริงให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างของเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัว และใช้เทคโนโลยีอวกาศให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด

ด้าน ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของ GISTDA ในวันนี้ ไม่เพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น แต่ต้องเร่งสร้างให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศขึ้นในประเทศ หนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญคือการพัฒนากำลังคน ขณะนี้ GISTDA วางแผนอวกาศระยะยาวที่วางรากฐานของเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมัธยมศึกษา วันนี้เราเห็นตัวอย่างในต่างประเทศแล้ว เช่น นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาแข่งประกวดสร้างดาวเทียม แล้ววันหนึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็กลายมาเป็นบริษัทสร้างดาวเทียม ดังนั้น เทคโนโลยีไม่ควรจะถูกเก็บไว้ที่หน่วยงานวิจัยภาครัฐ แต่ควรนำองค์ความรู้มาให้เยาวชนได้เกิดแรงบันดาลใจและต่อยอดในการเรียนรู้นอกเหนือจากบทเรียนด้วย เช่น การเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ที่เราได้ร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่าง GISTDA ม.สงขลานครินทร์ และกสทช. เพื่อทดสอบการใช้งาน ก่อนจะนำมาใช้บริการจริงในอนาคต ดังนั้นการที่นักเรียนเข้าใจการจำลองการรับสัญญาณด้วยระบบจริงในวันนี้ จะทำให้เกิดจินตนาการและต่อยอดเกิดเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ต่อยอดได้ ขอขอบคุณโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ที่สร้างกลไกการเรียนรู้นี้ให้กับนักเรียนและทำให้วงการอวกาศแพร่หลายขึ้นในประเทศไทยทั้งนี้ งานวันวิทยาศาสตร์ประจำปี 2567 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภายในงานจะมีกิจกรรมอื่น ๆ มากมาย เช่น กิจกรรม “รักแล้ว….รักษ์เลย” เปลี่ยนด้วยกัน รักษ์โลกด้วยกัน! นำเสนอความรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงผลกระทบของปรากฏการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน รวมถึงนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวแบบรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีหลอดกินได้ ที่จะช่วยลดขยะให้กับสังคม

นอกจากนี้มีกิจกรรมรักนะ…โรบอท “Robotics and Coding” ที่นำหุ่นยนต์หลายชนิดมาจัดแสดงให้นักเรียนเห็นความล้ำสมัยของเทคโนโลยีสู่โลกอนาคต รวมถึงกิจกรรม AI ที่จะช่วยเสริมสร้างความพร้อมให้นักเรียนก้าวสู่หัวใจแห่งโลกอนาคต และ ปิดท้ายด้วยบูทวิทยาศาสตร์แห่งความรัก ที่จะสร้างความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองให้กับนักเรียน ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการเติบโตก้าวสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเข้มแข็ง

Leave a Reply

Your email address will not be published.