สบพ.จัดการประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 4 (4th Aviation National Symposium)
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน เป็นประธานเปิดโครงการงานประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 4 (4th Aviation National Symposium) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สบพ. เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมการบิน โดยมีนักวิชาการ/นักวิจัย ส่งผลงานเข้าร่วม จำนวน 10 ผลงาน และมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน จำนวน 9 หน่วยงาน ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สบพ. กรุงเทพฯ
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย กล่าวว่า สถาบันการบินพลเรือน ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางด้านวิชาชีพการบินแห่งแรกของประเทศไทย ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า“เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในวิชาชีพด้านการบินโดยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของชาติและภูมิภาคอาเซียน” ทั้งนี้ สบพ. ได้ตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ (Mega Trend) ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบิน อาทิ ด้านการเมือง (Political) ด้านเศรษฐกิจ (Economic) ด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture) ด้านเทคโนโลยี (Technological) ด้านกฎหมายและนโยบาย (Legal & Policy) และด้านสิ่งแวดล้อม (Ecological) ซึ่งการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำหลักวิชาการมาใช้ในกระบวนการหาความรู้ หรือความจริงใหม่ที่มีระบบแบบแผนและเชื่อถือได้ ซึ่งคุณค่าที่ได้จากกระบวนการวิจัยนี้มีประโยชน์มากมาย ทั้งค้นพบวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งนำมาแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง
สบพ. ได้เห็นถึงประโยชน์จากการวิจัย จึงได้ดำเนินกิจกรรมโครงการประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยด้านการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้นำเสนอผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชน และสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการใหม่ อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมให้ธุรกิจด้านการบินของประเทศมีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีผู้สนใจในการส่งผลงานวิชาการและงานวิจัย จำนวน 10 ผลงาน ประกอบด้วย การนำเสนอในห้อง จำนวน 5 ผลงาน และการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ จำนวน 5 ผลงาน ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าว อยู่ในสาขาวิชาที่ทางคณะทำงานได้กำหนดไว้ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านธุรกิจการบิน (2) ด้านการท่องเที่ยว (3) ด้านการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนรู้(4) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (5) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (6) ด้านวิศวกรรมการบิน (7) ด้านโลจิสติกส์การบิน การเรียนการสอน และ (8) ด้านอื่นๆ นอกจากนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมท่าอากาศยาน สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สบพ. เป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรด้านการบินมาตลอดระยะ 64 ปี และเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านการบินในการผลิตหลักสูตรตามมาตรฐานที่กำหนด อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ในโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ Platinum ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค รวมทั้งได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ด้านสถาบันการฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization) และได้รับความเห็นชอบหลักสูตรระดับอุดมศึกษา จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทั้งนี้ สบพ. ยังคงทำหน้าที่ในการผลิตหลักสูตรใหม่ ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรด้านการบินให้ได้มาตรฐาน ให้มีความพร้อมในการทำงานตามที่สถานประกอบการต้องการ และเป็นศูนย์กลางงานวิชาการด้านการบินของประเทศ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป