สอวช. แนะ SME ปรับตัวสู่วิถีชีวิตปกติใหม่ ยกเป็นภาคส่วนสำคัญต่อจีดีพีประเทศ พร้อมสร้างกลไกยกระดับขีดความสามารถสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม
มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ “Unlock SME Potential” ปลดล็อก SME ไทย ปรับตัวอย่างไรในยุค Next Normal เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยการเกิดขึ้นของเวทีสัมมนานี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกรวมถึงประเทศไทย การคาดการณ์ก้าวต่อไปของวิถีความปกติใหม่ (Next Normal) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐและเอกชนเดินหน้าต่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะแนวโน้มความผิดปกติใหม่ที่สำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งงานสัมมนาในครั้งนี้ ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความปกติใหม่และการปรับตัวของภาคธุรกิจ”
ดร. กิติพงค์ เริ่มการบรรยายด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก โดยจากการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3-4 ในประเทศ ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้วิถีความปกติใหม่ถูกเร่งให้เร็วขึ้น จากข้อมูลที่ สอวช. ทำการศึกษาร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า หลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับไปเป็นปกติ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ SME ต้องมีการปรับตัว เช่น การลงทุนที่จะชะลอตัวลง และหนี้ที่สะสมมากขึ้น ในส่วนของรัฐบาลก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณมากขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงาน หากมีการระบาดอีกในระลอกถัดไป จะมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้น เพราะภาคธุรกิจจะมีสภาพคล่องลดลง ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง จนอาจทำให้ต้องมีการปิดตัวลง
ทั่วโลกยังได้มีการพูดถึงคลื่นยักษ์ 6D ที่จะถูกเร่งให้มาถึงก่อนกำหนดจากผลของโควิด-19 ทั้งภาวะหนี้ท่วม (Debt) ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนรากหญ้า ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น (Divided) ส่วนต่อมาคือความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม (Degradation of Environment) จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรื่องของ ความเสื่อมถอยของโลกาภิวัต (Deglobalisation) จากการที่คนหันมาร่วมมือกันในรูปแบบ Sandbox ทวิภาคีมากขึ้น ทำให้ความร่วมมือในวงกว้างลดน้อยลง อีกส่วนสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจระหว่างเอเชียและโลกตะวันตก (Divergence) ที่เริ่มเห็นเทรนด์คนจีนกลับเข้าไปทำงานในประเทศมากขึ้น ทำให้ห้องปฏิบัติการในสหราชอาณาจักรหรือสหรัฐ ต้องการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถเข้าไปทำงาน หากไม่สร้างระบบนิเวศที่ดีขึ้นในประเทศ คนก็จะออกไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น สุดท้ายคือการเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digitalisation) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้ชัดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
ความปกติใหม่หลังโควิดยังมีผลกระทบให้บางอย่างถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การทำงานจากบ้าน (Work from Home) E-Commerce และมีบางอย่างถูกชะลอให้ช้าลง เช่น การทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ งานที่มีการลงทุนก้อนใหญ่ อาทิ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน หุ่นยนต์ รวมถึงยังส่งผลกระทบให้บางอย่างถอยกลับไป เช่น การลดความยากจน ที่มีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจอวิกฤตทำให้ต้องย้อนกลับไปสู่จุดเดิม สำหรับผลกระทบจากการทำงานจากบ้าน ทำให้การทำงานต่อไปจะเป็นลักษณะของ Hybrid ผสมผสานการทำงานในที่ทำงานและทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการพื้นที่ในเมืองลดลง กระทบโดยตรงกับธุรกิจการให้เช่าพื้นที่ สวนทางกับธุรกิจ Retail, E-commerce ที่จะมาแรงขึ้น
สำหรับประเทศไทยภาคส่วนที่มีผลต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี สูง คือภาคการท่องเที่ยว หากสถานการณ์โควิดยังไม่มีแนวโน้มลดลง ธุรกิจท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการ ควบคุมการประกอบธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงและชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ด้วย ในภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มแรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะ SME ที่ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก ต้องมีการแก้ไขด้วยการใช้แรงงานต่างด้าวหรือใช้หุ่นยนต์ออโตเมชั่นเข้ามาช่วยมากขึ้น ภาคการเกษตร จากสถานการณ์โควิด ทำให้แรงงานไหลเข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น แต่ก็มีข้อกังวลว่าถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวแรงงานจะไหลออกไปอีก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้มีแนวคิดในการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) เตรียมพร้อมรับมือการขาดแคลนแรงงานในอนาคต สำหรับในภาคบริการสุขภาพ มีโอกาสเติบโตของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์เปลี่ยนเป็นการรับคำปรึกษาผ่านวิดีโอ ส่วนภาคการศึกษา มีการปรับเปลี่ยนมาก การเรียนการสอนจะเป็นแบบ Hybrid และเน้นไปที่หลักสูตรระยะสั้น (non-degree) มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความต้องการการ Reskill และ Upskill เพื่อเชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพ และแนวโน้มการจ้างงานจริง
อย่างไรก็ตาม การนำพาประเทศพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง SME มีความสำคัญอย่างมาก ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม ผ่านการยกระดับผู้ประกอบการ SME สู่ ธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDE) โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรม ที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ให้ได้ 1,000 ราย ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเป็น IDEs แต่ละระดับสามารถพัฒนาได้ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการที่พัฒนาไปเป็นสตาร์ทอัพ และจากกลุ่ม SME ที่มีความสามารถสูง โดยสามารถใช้กลไกการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นโค้ช หรือการให้ทุนนักศึกษาจบใหม่เพื่อให้เข้ามาช่วยกลุ่ม SME ในการยกระดับธุรกิจ เพิ่มยอดขายให้มากขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ในส่วนการสนับสนุนกลุ่ม SME ได้มีจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อ SME เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ SME มีศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรม สร้างโอกาสทางการแข่งขันและเสริมสร้างธุรกิจให้เติบโต โดยจะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจบริษัทใหญ่ที่บริจาคเข้ากองทุนดังกล่าว ให้สามารถนำเงินบริจาคไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า นอกจากนี้ ยังมีกลไก University Holding Companyที่เป็นกลไกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ภาคเอกชนสามารถทำร่วมกับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยในไทย 5 แห่งได้เริ่มทำไปแล้ว อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้กลุ่ม SME ทำงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ด้านบุคลากร มีการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมการจ้างงานที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (STEM) มีการให้แรงจูงใจทางภาษี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลกรและการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับพื้นที่ในการกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ตามจุดแข็งของแต่ละพื้นที่
สำหรับการมองถึงโอกาสของประเทศไทยในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้าไปหนุนเสริมในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาส สอวช. วางเป้าหมายไว้ 10 ด้าน ประกอบด้วย 1. การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตวัคซีนในระดับอาเซียน 2. การเป็นผู้ผลิตและส่งออก Functional Ingredients 1 ใน 10 ของโลก 3. เป็นจุดหมายปลายทางของ Sustainable Tourism ของโลก 4. การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเศรษฐกิจจุลินทรีย์ 5. การเปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศที่สร้างมูลค่าจากฐานสังคมคาร์บอนต่ำและการผลิตที่สะอาด 6. การสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทย 7. การเป็นผู้ผลิต Battery Packing และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 1 ใน 10 ของโลก 8. การมี IDE ที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท 1,000 ราย 9. การทำให้คนจน 10 จังหวัดเป้าหมายพ้นเส้นความยากจน และ 10. การเป็น Hub of Talent ในโลกตะวันออก เป็นการดึงผู้มีความสามารถเข้ามาในไทย ในการทำเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ปัญญาประดิษฐ์ วัคซีน รวมถึงในมิติของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้มีแนวทางสอดคล้องกับ 13 หมุดหมายภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)
ทั้งนี้ ในงานสัมมนายังได้มีการแลกเปลี่ยนในหัวข้ออื่นๆ ได้แก่ การนำเสนอ Next Normal Trends เทรนด์ของวิถีความปกติใหม่, Digital Transformation พลิกองค์กรด้วยวิถีดิจิทัล, Sustainability ความยั่งยืนและโอกาสทางธุรกิจ, Future of Work เทรนด์งานแห่งโลกอนาคต, และ Next Normal Consumers โลกปรับ ผู้บริโภคเปลี่ยน