วช. จับมือ 3 มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาและเผยแพร่งานวิจัยแก้ปัญหาช้างป่า

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ในกิจกรรม “เปิดเวทีเสวนาและเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาช้างป่า“ ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้แทนกล่าวการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม และนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้มีการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง โดย กำหนดแผนการดำเนินงาน คือ การฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า การเฝ้าระวังป้องกันช้างป่า สกัดกั้นช้างป่า การดูแลประชาชน ความร่วมมือด้านการวิจัย ดังนั้นการมีระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อบอกพิกัดที่ของช้างป่า ก่อนจะเข้าสร้างความเสียหายแก่ชุมชน เพื่อให้ชุดอาสาสมัครผลักดันช้างป่า สามารถผลักดันได้ทันต่อเหตุการณ์ ถือเป็นหนึ่งวิธีการเพื่อให้คนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. เริ่มขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดยสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ดำเนินโครงการในด้านนิเวศวิทยา เรื่องการศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัย โครงสร้างประชากร ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายและออกนอกพื้นที่ของช้างป่าเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างป่า เกิดเทคโนโลยีตรวจจับและแจ้งเตือนช้างป่าออกนอกพื้นที่ เพื่อให้ชุดอาสาสมัครสามารถเฝ้าระวังและผลักดันช้างกลับสู่พื้นที่อย่างถูกวิธี การจัดเวทีเสวนาด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านวิจัยและนวัตกรรมในครั้งนี้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จในอนาคต

บนเวทีเสวนามีการอภิปรายผลการดำเนินงานวิจัย ดังนี้ 1. การศึกษาช้างป่าแบบบูรณาการเพื่อลดผลกระทบความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาการติดตามช้างป่าด้วยเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยช้างป่า 2. ปัจจัยที่มีผลต่อการออกมานอกพื้นที่ การกระจายประชากร และพื้นที่เสี่ยง เพื่อจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.รองลาภ สุขมาสรวง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการเลือกพื้นที่อาศัยของช้างป่า รวมถึงแนวทางการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า 3. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจจับและแจ้งเตือนภัยช้างป่าแบบอัตโนมัติเพื่อการเฝ้าระวังชุมชนเชิงบูรณาการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาญ ทุมทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ในการตรวจจับและเฝ้าระวังช้างป่า

กิจกรรมครั้งนี้ยังประกอบไปด้วย นิทรรศการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากงานวิจัย กิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์คชานุรักษ์ ศูนย์เฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าบ้านพยากำพุช และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น

ทั้งนี้ วช. มีความมุ่งหวังที่จะให้ทุนหนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น ในการนี้การพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการช้างป่าและพื้นที่อนุรักษ์ ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับมนุษย์ แต่ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมของช้าง การศึกษาและพัฒนาพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม และการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะที่ยั่งยืน ผลงานวิจัยเหล่านี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published.