สวรส. ทบทวนยุทธศาสตร์วิจัย มุ่งตอบสนองภาวะวิกฤต พร้อมชี้ทิศทางนโยบาย เพื่อประสิทธิภาพการพัฒนาระบบสุขภาพไทย
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น : ทบทวนภารกิจและยุทธศาสตร์ กับทิศทางอนาคตปี 2565-2569 (HSRI Retreat) ผ่านระบบ Zoom Meeting เป็นวาระสำคัญวาระหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการ สวรส. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการ สวรส. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน สวรส. วันที่ 5 สิงหาคม และการประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ สวรส. วันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์ สวรส. ปี 2565-2569 ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขว่า สวรส. มีการทบทวนบทบาทภารกิจขององค์กรตามพระราชบัญญัติ สวรส. พ.ศ. 2535 ซึ่งมุ่งการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว กำหนดวิสัยทัศน์สำคัญของการ “เป็นผู้นำการบริหารจัดการงานวิจัยด้านสุขภาพสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพไทย” บนพันธกิจการขับเคลื่อนองค์ความรู้อย่างมีทิศทางและมีส่วนร่วม ด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้าน คือ 1.สร้างและจัดการองค์ความรู้การวิจัยด้านสุขภาพ มุ่งให้เกิดกรอบวิจัยด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เกิดงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน ที่สามารถสร้างผลลัพธ์หรือผลกระทบตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาของประเทศ 2.พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งระดับนโยบายหรือการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในระดับต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ 3.สร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยและเครือข่ายวิจัย โดยส่งเสริมการทำงานร่วมกับเครือข่ายวิจัย เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรวิจัยที่มีศักยภาพและพัฒนาเครือข่ายวิจัย และ 4.พัฒนากลไกสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต โดยมีความสอดคล้องกับการปฏิรูประบบวิจัย รวมทั้งพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ตลอดจนส่งเสริมองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล
นพ.นพพร กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นท้าทายที่ สวรส. ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและความเข้มแข็งของระบบบริหารจัดการงานวิจัย ทั้งบุคลากรและเครื่องมือกำกับติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การพัฒนาโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลัง เพื่อรองรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ การสร้างผลงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริง มีผลลัพธ์หรือผลกระทบเด่นชัด คุ้มค่า และการเชื่อมโยงการวิจัยด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
ในด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อคิดเห็นว่า สวรส. ควรเน้นงานวิจัยเชิงระบบที่เป็นจุดเด่นขององค์กร โดยทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อระบบสุขภาพในระยะเวลา 5 ปี เช่น งานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาหรือเพิ่มคุณค่าให้กับนโยบาย การบริหารจัดการ ตลอดจนงานบริการต่างๆ ทั้งนี้ ในด้านกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เสนอให้มีการพัฒนากลไกสนับสนุนการวิจัยในกรณีภาวะวิกฤต ซึ่งจำเป็นต้องมีงานวิจัยหรืองานวิชาการรองรับในทุกวันเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ตัวอย่างที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โควิด-19 สธ. (MIU) , มีทีมข้อมูลเพื่อการวิจัยเร่งด่วน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ สวรส.เป็น Intelligent Unit ของประเทศไทยในการให้ข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนทั้งโครงสร้าง การสร้างทีมข้อมูลสนับสนุนการทำงานของฝ่ายตัดสินใจเชิงนโยบาย เป็นต้น
เช่นเดียวกับ นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สวรส. ให้ข้อเสนอว่า การวิจัยต้องตอบสนองภาวะวิกฤต เห็นด้วยที่ควรตั้ง Intelligent Unit เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค แนวทางผลการวิจัยทั่วโลกและประเทศไทยเพื่อการแก้ปัญหาที่รอบด้าน โดยควรพัฒนารูปแบบการทำงานในยามวิกฤต เช่น การสนับสนุน ติดตาม นำผลการศึกษาวิจัยมาวิเคราะห์ หาองค์ความรู้ให้กับประเทศ ตลอดจนวิธีการประสาน/สนับสนุนเชิงนโยบายที่รวดเร็วขึ้น ได้อย่างไร
ทางด้าน ศ.นพ.ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานในระบบสุขภาพขาดการทำงานที่เชื่อมโยงกัน เช่น ในสถานการณ์วิกฤตปัจจุบัน มีการให้ข้อมูลหรือการทำงานที่แยกออกจากกัน ซึ่ง สวรส. ควรเข้ามาเชื่อมโยงการทำงานผ่านงานวิจัย โดยทำเป็น Intelligent Unit ที่รวมนักวิจัยส่วนต่างๆ ร่วมทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์การระบาด ตลอดจนโรคอุบัติใหม่ ทั้งนี้ สวรส. ควรเน้นงานวิจัยเชิงระบบมากกว่าเรื่องนวัตกรรม
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า สวรส. ควรจัดตั้งทีมวิชาการ โดยมองไปข้างหน้าว่า Health security และ policy ในอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการรองรับวิกฤตสุขภาพในอนาคต พร้อมเสนอให้ สวรส. จัดตั้งโปรแกรม Health security policy and research system program ซึ่งจะต้องทำหน้าที่และมีระบบที่ตอบสนองต่อภาวะวิกฤตที่เกิดจากมนุษย์, เกิดจากธรรมชาติ รวมทั้งภาวะวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาด สำหรับ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพก้าวหน้าเร็วมาก เสนอให้ สวรส. มีหน่วยงานเฝ้าระวังเทคโนโลยี Horizontal Scanning ที่ตอบสนองต่อสังคม
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สรุปทิ้งท้ายไว้ในการประชุมครั้งนี้ว่า ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยยังเป็นเครื่องมือสำคัญให้ผู้บริหารได้นำมาใช้ในการตัดสินใจ วางแผนหรือสร้างแนวทางให้มีความยืดหยุ่น เท่าทันกับสถานการณ์ และบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพได้ ซึ่งผลการประชุมครั้งนี้ มอบให้ทาง สวรส. ได้นำความเห็นจากที่ประชุมปรับไว้ในแผนหลักของ สวรส. และประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ โดยเรื่องที่สำคัญคือ สวรส. ต้องบริหารจัดการสนับสนุนงานวิจัยทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเชื่อมโยงผู้วิจัย เนื้อหาการวิจัยมาใช้ เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ต่างๆ
สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานองค์กร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน สวรส. ต่างๆ นี้ ได้ถูกรวบรวมประมวลไว้ใน(ร่าง)แผนยุทธศาสตร์และบทบาทภารกิจ สวรส. ปี 2565-2569 และเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ครั้งที่ 8/2564 ในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 นี้ เพื่อพัฒนาสู่การดำเนินงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพขององค์กรต่อไป