เอ็มเทค สวทช. จับมือศิริราช ทดสอบทางคลินิก OSSICURE Bone Graft นวัตกรรมทดแทนกระดูกสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

[17 กุมภาพันธ์ 2568] ณ ห้องประชุมสิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ – ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามสัญญาทดสอบทางคลินิกผลิตภัณฑ์ OSSICURE Bone Graft เพื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยกับผลิตภัณฑ์อ้างอิง Infuse Bone Graft ในการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานร่วม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค ร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OSSICURE Bone Graft สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประเทศ การทดสอบทางคลินิกครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของ สวทช. และศักยภาพด้านการแพทย์ของศิริราช ซึ่งมีบุคลากรและจำนวนผู้ป่วยที่เพียงพอสำหรับการทดสอบ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้งานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว  

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ปัญหากระดูกสันหลัง โดยเฉพาะโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของประชากรไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดคอและปวดหลังเรื้อรัง โดยจากสถิติพบว่ามีประชากรทั่วโลกกว่า 403 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 104 ล้านคน การรักษาส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ในบางกรณีต้องใช้การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งปัจจุบันใช้กระดูกจากผู้ป่วยเองหรือจากผู้บริจาค อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีข้อจำกัดทั้งเรื่องต้นทุน ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และระยะเวลาพักฟื้นที่ยาวนาน การพัฒนา OSSICURE Bone Graft จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์นี้สามารถ ใช้ทดแทนกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการศึกษาในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง พบว่ามีความปลอดภัย และผลข้างเคียงใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก U.S. FDA ซึ่งนับจากนี้ทางโครงการจะดำเนินการทดสอบทางคลินิกเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ และยังเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล  

รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทยส่งผลให้ปัญหากระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นในการรักษาด้วยการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาดังกล่าวยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องภาวะแทรกซ้อนและระยะเวลาพักฟื้นที่ยาวนาน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เอ็มเทค สวทช. จึงพัฒนา OSSICURE Bone Graft นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ฝังใน ที่ช่วยลดการใช้กระดูกของผู้ป่วยเอง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังมีศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ  

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญ เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีผลงานสำคัญ เช่น การพัฒนาวัคซีนเด็งกี่ และชุดตรวจแยกซีโรทัยป์ของไวรัสเด็งกี่ ชุดตรวจภูมิแพ้กุ้ง งานวิจัยทางด้านพันธุกรรมของมนุษย์ งานวิจัยพื้นฐานทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา Precision Medicine ใน Genomics Thailand เป็นต้น  ทั้งนี้ ความร่วมมือได้รับการยกระดับผ่าน MU-NSTDA Research Consortium ที่มุ่งส่งเสริมงานวิจัยเชิงพาณิชย์ สาธารณะ และนโยบาย โดย OSSICURE Bone Graft เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรมและการใช้งานจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ  

ความร่วมมือระหว่างเอ็มเทค สวทช. และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบทางคลินิกของ OSSICURE Bone Graft ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง นวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดภาระการใช้กระดูกของผู้ป่วย แต่ยังสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล  

Leave a Reply

Your email address will not be published.