สวรส. ชงวิจัย : กรอบยุทธศาสตร์สาธารณสุข “ลดติดเชื้อ-ป่วย-ตาย” พร้อมรับมือวิกฤตโควิด-19
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของผู้คน ซึ่งการรับมือกับวิกฤตสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและเชื่อมโยงการทำงานในทุกมิติ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ
ข้อมูลจากงานวิจัย “การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย” สะท้อนข้อมูลการดำเนินงานของประเทศที่ผ่านมา พบจุดแข็งสำคัญหลายประการซึ่งปรากฏแก่สังคมอย่างชัดเจน อาทิเช่น มีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง รวมทั้งการออกและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีมาตรการทางสังคมในระดับประเทศ รวมถึงมาตรการระหว่างประเทศ เช่น งดการเดินทางระหว่างประเทศ งดดำเนินกิจการในกลุ่มเสี่ยง มีการสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการระบาดเป็นวงกว้าง มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรค เป็นต้น โดยอีกด้านที่ยังคงเป็นจุดอ่อนและช่องว่างของการดำเนินงาน เช่น ยังขาดศักยภาพการผลิตทรัพยากรภายในประเทศ เช่น ชุด PPE N95 ขาดการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความจำเป็นของแต่ละสถานที่ เพื่อวางแนวทางการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ขาดการเฝ้าระวังการปฏิบัติตามมาตรการเชิงสังคมในระดับบุคคลและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยังมีช่องว่างของระบบข้อมูลทรัพยากรสุขภาพคงคลัง และยังขาดฐานข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
ทั้งนี้ งานวิจัย “การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย” ดังกล่าว เป็นการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยทีมนักวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอประเด็นเพื่อการพัฒนาในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีเป้าหมายให้การจัดทำยุทธศาสตร์สาธารณสุขของประเทศมีความชัดเจนและรอบด้านมากขึ้น ที่จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดในครั้งนี้และอนาคตได้
ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การรับมือกับโรคระบาดต้องดำเนินการอย่างบูรณาการและเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลางและพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง และมีการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนเชื่อมโยงกับหลายปัจจัยทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ โดยงานวิจัยนี้ มีเป้าหมายสำคัญของการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์สาธารณสุขของประเทศ ที่จะลดการติดเชื้อ ลดการป่วยและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยทีมวิจัยได้วิเคราะห์การดำเนินงานของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ตลอดจน ช่องว่างต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเสนอกรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของประเทศที่ตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมทั้งหมดไว้ 7 ด้าน ได้แก่ การติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการระบาด, การกำหนดมาตรการทางสังคมและมาตรการสาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด, การเตรียมความพร้อม ศักยภาพและทรัพยากรของระบบบริการสุขภาพ, การส่งเสริมจัดการความรู้ การวิจัยและพัฒนา, การสื่อสารกับหน่วยงานและประชาชน รวมถึงการบริหารจัดการเชิงบูรณาการเพื่อจัดการกับการระบาดของโรค
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ฯ นับเป็นงานวิจัยเชิงระบบที่เปรียบเหมือนการพัฒนาเข็มทิศการดำเนินงานให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนครอบคลุมไปจนถึงผลกระทบของเรื่องต่างๆ โดยกรอบยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้านดังกล่าว เป็นภาพระดับประเทศที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานระดับเขตและระดับจังหวัด รวมทั้งจะทำให้มีข้อมูลการดำเนินงานที่สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว สามารถเชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา คมนาคม แรงงาน การท่องเที่ยว ฯลฯ ได้ต่อไป
สำหรับข้อเสนองานวิจัย : กรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย 7 ด้าน
1) การติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของโรค ทั้งการรายงานสถานการณ์การระบาด การจัดกลุ่มความเสี่ยง การสำรวจสถานการณ์สุขภาพและพฤติกรรมของประชาชน การพยากรณ์โรคทั้งระดับประเทศและพื้นที่
2) การกำหนดมาตรการทางสังคมตามสถานการณ์ปัจจุบัน และหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่เน้นการส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันตัวในระดับบุคคลอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ความเสี่ยงและความจำเป็นของแต่ละสถานที่ เพื่อสื่อสารคำแนะนำในรูปแบบคู่มือต่างๆ พัฒนาระบบการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการ ตลอดจนสร้างกลไกกำหนดมาตรการทางสังคมแบบมีส่วนร่วม
3) การกำหนดมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค พัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการ/ระบบติดตามเฝ้าระวัง สอบสวนโรค/การกักตัว ควบคู่กับการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และสนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการเฝ้าระวัง พัฒนาเครือข่ายและระบบข้อมูล ทบทวนแผนและพัฒนาความร่วมมือระหว่างจังหวัดหรือเขต และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงจัดทำรายละเอียดการปฏิบัติการเฉพาะกลุ่ม
4) การเตรียมความพร้อม ศักยภาพและทรัพยากรของระบบบริการสุขภาพ พัฒนาศักยภาพในการรักษาโรค พัฒนาระบบสุขภาพ รวมทั้งระบบข้อมูลและติดตามประเมินผลการรักษา ทั้งโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ในสถานการณ์ปกติใหม่ ตลอดจนการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขอย่างเพียงพอ ทั่วถึง เป็นธรรมและต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพการผลิตเวชภัณฑ์ที่จำเป็นภายในประเทศ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบบริการสุขภาพมากขึ้น
5) การส่งเสริมการจัดการความรู้ การวิจัยและพัฒนา อาทิ พัฒนาให้มีฐานข้อมูลที่เชื่อมองค์ความรู้ระหว่างแหล่งทุนและนักวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน และลดความกังวลต่อการระบาดของโรค เชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการประเมินผลกระทบระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนบูรณาการการบริหารจัดการงานวิจัยในระยะยาว
6) การสื่อสารและประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน อาทิ ควรมีการจัดทำแผนปฏิบัติการสื่อสารความเสี่ยง การบริหารจัดการสื่อสารและกำหนดแผนการกระจายข้อมูลให้ทั่วถึงทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ พัฒนาความรู้เท่าทันสื่อของประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถสอบถามข้อมูลได้ 7) การบริหารจัดการเชิงบูรณาการเพื่อการจัดการกับการระบาดของโรค มีระบบติดตามประเมินผลการทำงานตามหลักธรรมาภิบาลในทุกระดับ ศึกษาทบทวนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการเงินการคลัง การจัดซื้อจัดจ้าง การปฏิบัติงานของบุคลากร จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและมีการกระจายอย่างเป็นธรรม รวมทั้งจัดสรรงบประมาณสำหรับระบบการเฝ้าระวัง และการพัฒนาศักยภาพของประเทศ เช่น การพัฒนาวัคซีน รวมทั้งการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก