BCG สาขาเกษตร เดินหน้าพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวบนฐานวัฒนธรรมข้าวเหนียว ชู “NAGA Belt Road” เป็น Quick Win ของ BCG สาขาเกษตร
BCG สาขาเกษตร ผลักดันการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-NAGA Belt Road (บีซีจี นาคาเบลต์โรด)) โดยลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการออกแบบโมเดลเส้นทางการท่องเที่ยวบนฐานวัฒนธรรมข้าวเหนียวจังหวัดอุดรธานี หนึ่งในจังหวัดนำร่อง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศอ่างน้ำพาน และ 2) วิสาหกิจชุมชนโฮม สเตย์เชิงอนุรักษ์บ้านเชียงแหว ที่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและพัฒนาตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และสร้างกลไกการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่แบบ 4 P (ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และสถาบันการศึกษาในพื้นที่) ได้อย่างแท้จริง
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และเลขานุการคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษกิจ BCG สาขาเกษตร เปิดเผยว่า สวทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-NAGA Belt Road) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวบนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG นำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย อุดรธานี และนครพนม ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 4 แผนงานหลัก คือ 1) มุ่งพัฒนาทักษะเกษตรกรและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม 2) มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเหนียวและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้ง 3) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว และ 4) มุ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการผลิตและรายได้ โดยล่าสุดคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษกิจ BCG สาขาเกษตร นำโดย น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการฯ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในแผนงานที่ 3 ซึ่ง ดร.อรรจนา ด้วงแพง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ทำการศึกษาทรัพยากรในชุมชนและจัดทำคลังความรู้ชุมชนในด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับข้าวเหนียว จนเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยงบนฐานวัฒนธรรมข้าวเหนียวในพื้นที่อุดรธานี
โมเดลเส้นทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย ทะเลบัวแดง-วัดหายโศก-วัดสุวรรณนารี-คำชะโนด-อ่างน้ำพานอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท-วัดป่าบ่องึม-อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง-ภูฝอยลม-สะพานหินท่าลี่ ภายใต้เส้นทางวัฒนธรรมดังกล่าว ได้มีการพัฒนาหมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมข้าวเหนียว 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศอ่างน้ำพาน ตำบลเชียงดา อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี โดยกลุ่มฯ มุ่งส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบแห่งการท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมข้าวเหนียว ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบแพสเตย์ (Eco-tourism) และการพัฒนาตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียว เช่น ล่องแพชมธรรมชาติอ่างน้ำพาน (ท่าแพบ้านแมด) ชมควายทามบนเกาะป่าทาม เป็นต้น รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน โดยได้ปรับปรุงสถานที่ติดตั้งต้นแบบ ระบบโซล่าเซลล์ในแพ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวในการชาร์จแบตมือถือ พัดลม เครื่องเสียง และทำอาหาร ตลอดจนเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำที่มีการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับข้าวเหนียวครบวงจร เป็นชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (พันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคา พันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ฯลฯ) และมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวอย่างหลากหลาย พัฒนาและรองรับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
และอีกแห่งหนึ่งคือที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์บ้านเชียงแหว ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ใกล้บึงหนองหาน แหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ ช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ดอกบัวแดงจะเบ่งบานเต็มผืนน้ำของหนองหาน จึงเป็นที่มาของ “ทะเลบัวแดง” โดยแหล่งท่องเที่ยวนี้มีทั้งที่พัก ร้านอาหาร และร้านของฝากที่ระลึก รองรับนักท่องเที่ยวที่มาชมทะเลบัวแดง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามตำนาน รวมถึงยังเป็นชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว มีแปลงทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์คัดต่าง ๆ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวอย่างหลากหลาย สำหรับรองรับและพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เส้นทางการท่องเที่ยวบนฐานวัฒนธรรมข้าวเหนียวที่ได้พัฒนาให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่โครงการ BCG-NAGA Belt Road ได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการขยายผลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและพัฒนาตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวให้สามารถยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวให้สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตลอดห่วงโซ่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป