วว. ได้รับอนุมัติข้อเสนอโครงการวิจัย มุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจเอเปค การจัดการขยะชุมชน & พัฒนากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับอนุมัติข้อเสนอโครงการวิจัย ที่มีเป้าหมายพัฒนาเขตเศรษฐกิจเอเปค จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดการขยะชุมชนตามหลัก BCG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และโครงการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยและพัฒนากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเศรษฐกิจเอเปค เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและการพัฒนาอย่างเสมอภาค ลดความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจ ยกระดับความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคม
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มุ่งร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จากการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้ได้รับการอนุมัติข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนา จำนวน 2 โครงการ จาก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) โดยให้เป็นโครงการภายใต้ APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation (PPSTI) ซึ่งมี กระทรวง อว. เป็น Focal Point ประเทศไทยของกลุ่ม PPSTI สำหรับโครงการของ วว. ที่ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วย
1.โครงการจัดการขยะชุมชนตามหลัก BCG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Municipal Solid Waste Management according to BCG Principles towards Sustainable Development Goals) โดยมี ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว .เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเขตเศรษฐกิจเอเปคในการสร้างเครือข่าย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การจัดการขยะชุมชน โดยการแบ่งปันการถอดบทเรียนด้านการจัดการขยะและกรณีศึกษาในการจัดการขยะชุมชนที่ประสบความสำเร็จ โดยจะเริ่มต้นโครงการจากการจัดสัมมนาออนไลน์ เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากเขตเศรษฐกิจเอเปค อาทิเช่น ญี่ปุ่น สวีเดน สิงค์โปร เวียดนาม ไต้หวัน และรัสเซีย มาแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่มีในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการขยะชุมชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับหลักการนโยบายเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีมูลค่าเพิ่มและการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG)
“วว. มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี หรือตาลเดี่ยวโมเดล และขยายผลต่อยอดในการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางในจังหวัดอื่นๆ อีก 3 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการขยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน รวมถึงการสร้างโอกาสให้เกิดการเรียนรู้แก่สตรี ดังนั้นการที่ข้อเสนอโครงการฯ จัดการขยะชุมชนของ วว. ได้รับอนุมัติจากเอเปค เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกให้ยั่งยืน” ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวยืนยันถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ วว. ในการจัดการขยะชุมชน
2.โครงการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยและพัฒนากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเศรษฐกิจเอเปค (Development of Ornamental Plant and Flower Clusters for Sustainable Careers and Competitiveness of SMEs in APEC) โดยมี ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยและพัฒนากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเศรษฐกิจ APEC โดยจะเริ่มต้นโครงการผ่านการสัมมนาออนไลน์ และนำบทเรียนที่ได้รับระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ จากเขตเศรษฐกิจเอเปคมาเป็นปัจจัยในด้านการปฏิบัติ เพื่อเพิ่มมูลค่าของไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจและเสริมสร้างแนวคิดของ BCG ในการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร การพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเศรษฐกิจเอเปคตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สู่การบรรลุโอกาสและความยั่งยืนในภาคธุรกิจต่อไป
“เขตเศรษฐกิจเอเปค มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกไม้ดอกและไม้ประดับ รวมทั้งความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ และผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการส่งออก โดย วว. มีหน่วยงานพันธมิตรที่สามารถติดต่อประสานงานได้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิ นโดนีเซีย และแสวงหาหน่วยงานในเขตเศรษฐกิจอื่นเพิ่มเติมที่อาจสนใจ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน เม็กซิโก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลายของผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับนั้นยังคงเป็นปัญหา ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา เช่น การทำฟาร์มอัจฉริยะ ผลิตภัณฑ์เกษตร การสร้างมูลค่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์และนวัตกรรม รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อยกระดับความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเศรษฐกิจเอเปค ได้ผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ประสบผลสำเร็จใน 6 จังหวัดของประเทศไทย โดยเพิ่มขีดความสามารถผ่านโครงการเพื่อสร้างศักยภาพให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะเป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการที่มาจากสาขาวิชาหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเรียนรู้และสร้างเครือข่ายระหว่างเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ขั้นแรกและกลายเป็นปัจจัยที่มีประโยชน์ในการพัฒนากลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้านเศรษฐกิจต่อไป
อนึ่ง ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก นอกจากนี้ยังส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รับคำแนะนำปรึกษา และรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล tistr@tistr.or.th Line@TISTR