สกสว. รวมพลคนวิจัยนำร่องขยายเครือข่ายการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมการสร้างเครือข่ายการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization Network; RU Network) โดยเชิญภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ทั้งหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU:Program Management Unit) ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 19 หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมหารือถึงแนวทางการจัดตั้งเครือข่ายการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยเวทีในวันนี้ได้มีการนําร่องขับเคลื่อนการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงประเด็นที่สามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหาจริงในพื้นที่ และสร้างเป็นแนวทางนำร่องในการทำงานร่วมกัน
รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทำให้ขณะนี้เกิดการทำงานในรูปแบบที่บูรณาการกันมากขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า งานวิจัยและนวัตกรรมมีคุณค่าในแง่ของการแก้ปัญหาประเด็นต่าง ๆ ในวันนี้ สกสว. จึงมองภาพเชิงระบบว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่าง ๆ เกิดการทำงานรูปแบบเครือข่าย เพื่อสร้างพลังของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบัน สกสว. ได้พัฒนาระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU Platform) ทั้งในส่วนภาคนโยบายที่ สกสว. ร่วมทำงานกับรัฐสภาซึ่งเป็นช่องทางที่นักวิจัยสามารถนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเสนอต่อภาคนโยบายได้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีระบบการสื่อสารงานวิจัยสู่สาธารณะเช่น Research Cafe นอกจากนี้ยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการประชุมในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มในการหารือถึงความร่วมมือในแนวทางการทำงานของเครือข่ายการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก การดำเนินงานในรูปแบบเครือข่ายนี้จะสร้างระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเกิดคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและด้านวิชาการ
การประชุมครั้งนี้ยังมีการนําร่องขับเคลื่อนการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาหมอกควันและ PM2.5 เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาระบบติดตามคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ที่ทำให้คนเชียงใหม่สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้อย่างแม่นยำ โดยการติดตั้งอุปกรณ์รายตำบลทำให้ได้ผลที่แม่นยำและครอบคลุม รวมถึงมีงานวิจัยที่สามารถช่วยในการพยากรณ์การเกิดฝุ่นและการเคลื่อนที่ของฝุ่น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมหน้ากากป้องกัน PM2.5 ที่สามารถกรองฝุ่นได้ร้อยละ 99 รวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมอีกมากกว่า 20 ผลงานที่สามารถแก้ปัญาหา PM2.5 โดยที่ประชุมยังได้เสนอความเห็นแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ