เภสัชรัฐศาสตร์ ปฐมบท
การสร้างสังคมที่มีดุลยภาพของชีวิต เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และโครงสร้างของสังคม และชุมชนได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยอิทธิพลใหญ่ 3 ประการ คือ ภูมิอากาศโลก เทคโนโลยี และที่จะไม่สามารถปฏิเสธได้เลยนั่นคือ เชื้อโรคอุบัติใหม่ที่เราต่างเผชิญหน้ากันอยู่คือ โรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกยุบตัวอย่างฉับพลันทั้งในด้านอุปสงค์ และอุปทาน อันเนื่องมาจากความพยายามในการควบคุมการขยายตัวของโคโรนาไวรัสที่แพร่เชื้อและกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วไปทั่วทุกมุมโลก การปรับตัวของเศรษฐกิจที่หันมาพึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศเป็นหลัก และการสาธารณสุขที่สามารถตอบรับความท้าทายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยอาศัยทรัพยากรภายในประเทศเป็นหลักได้ถูกนำมาปรับใช้ในหลายประเทศ
ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ว่าเป็นประเทศที่มีการสาธารณสุขที่ดี ในด้านการจัดการกับภาวะวิกฤตเพื่อรับมือปัญหาสุขภาพ ดังจะเห็นเป็นที่ประจักษ์ได้จากการจำกัดการแพร่เชื้อของโรคโควิด-19 ความสำเร็จของประเทศดังกล่าวสามารถสรุปได้จาก 2 ปัจจัยหลักใหญ่ คือ 1. การได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสาธารณสุขชุมชนที่เข้มแข็งในการสร้างความตื่นรู้ของผู้คนในชุมชน โดยมีอาสามัครสาธารณสุขที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน และมีการทำงานร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างความเข้าใจในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของชุมชน การระแวดระวังสำหรับการคัดกรองโรค การจัดการปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงการทำงานกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค 2. การร่วมมือร่วมใจของประชาชนในประเทศ ที่มีความเข้าใจเป็นอย่างดีของความสำคัญของปัญหาของโรคที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพ ปัญหาทางด้านรายได้และเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ อันมีผลกับชีวิตและครอบครัว หน่วยงาน บริษัท องค์กรที่ตนเองทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้เราเห็นพ้องต้องกันว่าภาคการปกครองและองค์กรสาธารณสุขได้มีบทบาทอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ
นอกจากนั้นปัญหาสังคมผู้สูงอายุกำลังเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายอย่างมาก จากการที่ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าภายในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้าจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า ซึ่งส่งผลโดยตรงกับตลาดแรงงานที่ถดถอยซึ่งสวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขที่จะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็นประชากรมากถึง 8-9 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 16-17 ซึ่งมีสถิติพบว่าในแต่ละปีผู้สูงอายุต้องเข้าโรงพยาบาล 7 ครั้งโดยเฉลี่ยต่อคน สุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุและประชากรในทุกช่วงวัยจะเป็นปัจจัยหลักต่อความมั่นคงของประเทศในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เราสามารถสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนให้กับสังคมไทย โดยใช้ปริบทการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความหลากหลายทางชีวภาพของสินค้าทางด้านการเกษตรเป็นทุนหลัก ประเทศไทยมีพืชผลที่ถูกใช้เป็นอาหารอยู่อย่างสมบูรณ์ นอกจากพืชถูกใช้เป็นแหล่งอาหารแล้ว พืชยังเป็นแหล่งของสารสำคัญที่สามารถใช้เป็นยา วัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง พืชมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีสมบัติเชิงหน้าที่ (Functional properties) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในมนุษย์และสัตว์ เช่น การต้านการอักเสบ คุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระ การยับยั้งแบคทีเรียและไวรัส การยับยั้งกระบวนการเสื่อมของเซลล์ เป็นต้น
เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ในศตวรรษที่ 21 เราจำเป็นต้องมีการส่งเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจทางด้านเภสัชศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อใช้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานการศึกษาสถาบันและมหาวิทยาลัยจากภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนที่มีพืชพรรณธัญญาหาร รวมถึงสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นเฉพาะถิ่นของแต่ละชุมชน สร้างความพร้อมทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และสร้างสังคมคนรักสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมด้านอาหารฟังก์ชัน โภชนเภสัชศาสตร์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยมีกลจักรการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับองค์กรการปกครองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ในการผลักดันแผนงานแม่บทให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สร้างผู้นำชุมชน ผู้นำทางด้านสุขภาพ และภาคีเครือข่ายรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สังคม และประเทศต่อไป